ยกระดับอาชีพ ‘ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์’ รองรับ ยุค 4.0

สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ และ มทร.ธัญบุรี จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ครอบคลุม 15 คุณวุฒิ ใน 8 อาชีพด้านอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ เพื่อสร้างมาตรฐานและยกระดับอาชีพ สู่ยุค 4.0 รับนโยบายรัฐบาล

รศ.ดร.ประเสริฐ  ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดเผยว่า มทร.ธัญบุรี ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) จัดทำโครงการการพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ สาขาธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ ขึ้นเพื่อยกระดับมาตรฐานสมรรถนะของกำลังคนในภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซและการบริการออนไลน์ สาเหตุสำคัญเนื่องมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยส่วนใหญ่ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมีนัยสำคัญและมีต่อเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งมีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมหลายภาค ทั้งในกระบวนการผลิต การดำเนินธุรกิจ การค้าการบริการ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม รวมทั้งการดำเนินงานตามนโยบายที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ครอบคลุมถึงนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0

มทร.ธัญบุรี มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและจัดทำมาตรฐานอาชีพให้กับประเทศไทยมาหลากหลายสาขาวิชาชีพ และมีประสบการณ์ในการพัฒนาเพื่อยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมให้มีความสามารถในการก้าวสู่ตลาดออนไลน์ รวมทั้งการดำเนินงานหลายโครงการที่ช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้รับความเชื่อมั่นในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในครั้งนี้

“มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพที่พัฒนาขึ้นนี้ มีสมรรถนะอาชีพทั้งด้านความรู้ ทักษะการปฏิบัติ และคุณลักษณะพึงประสงค์ในการประกอบอาชีพ รวมทั้งสิ้น 25 หน่วยสมรรถนะ ประกอบด้วยบริหารจัดการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการตลาดดิจิทัล บริหารจัดการเว็บไซต์ และพัฒนาระบบเว็บ ซึ่งคุณวุฒิวิชาชีพดังกล่าวนี้ มีความครอบคลุมถึง 15 คุณวุฒิ ใน 8 อาชีพ คือ (1)ที่ปรึกษาด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  (2)นักพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  (3)นักการตลาดดิจิทัล  (4)นักบริหารจัดการระบบบริการออนไลน์  (5)นักประเมินระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  (6)นักบริหารระบบความมั่นคงปลอดภัยด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  (7)นักพัฒนาและบริหารข้อมูลระบบเว็บไซต์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์  และ(8)นักออกแบบเว็บไซต์”

โดยมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพดังกล่าวนี้ เป็นการกำหนดระดับสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพ และรับรองสมรรถนะกำลังคนตามมาตรฐานอาชีพ เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกทั้งเพื่อให้บุคคลได้รับการยอมรับในความรู้ ทักษะความสามารถ และได้รับคุณวุฒิวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับสมรรถนะประสบการณ์และความรู้ที่เกิดขึ้นจริง  รวมทั้งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพในการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าในสายอาชีพได้ต่อไป

การพัฒนามาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และดิจิทัลคอนเทนต์ สาขาธุรกิจอีคอมเมิร์ซและเว็บไซต์ จึงเป็นการยกระดับคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ให้มีสมรรถนะในการแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในการสร้างนวัตกรรมทางธุรกิจและการบริการออนไลน์ได้อย่างยั่งยืน และที่สำคัญยังตอบโจทย์ด้านการพัฒนาสมรรถนะซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านทุนมนุษย์ของประเทศ เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล สู่ “ยุค 4.0” อย่างยั่งยืนต่อไปได้.