สัตยา นาเดลลา กับผลงาน 2 ปี ในฐานะซีอีโอไมโครซอฟท์

ย้อนไปเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 2014 ไมโครซอฟท์ ประกาศแต่งตั้ง สัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอคนที่ 3 ของบริษัท ในรอบ 39 ปี วิสัยทัศน์ของนาเดลลาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง คือการเดินหน้ากลยุทธ์ใหม่ที่เน้นการเพิ่มผลิตผลทางเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม ภายใต้วิสัยทัศน์ Mobile-First Cloud-First ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ฮาร์ดแวร์ เพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและเติมเต็มพลังให้กับผู้คนบนโลก

ช่วงเวลา 2 ปี ในการกุมบังเหียนไมโครซอฟท์ของสัตยา นาเดลลา  ต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายในการดำเนินธุรกิจ พร้อมกับความคาดหวังจากผู้คนทั่วโลก ผู้ถือหุ้น ไปจนถึงนักลงทุน ที่ต้องการเห็นเทคโนโลยีที่สร้างสรรค์ที่จะพลิกโฉมไมโครซอฟท์ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในโลกไอทีได้อีกครั้ง วันนี้เรามาย้อนรอยดูกันดีกว่ากับผลงานของสัตยา นาเดลลา ตลอด 2 ปีที่ผ่านมากับไมโครซอฟท์ มีอะไรโดดเด่น เชิญชมครับ

1. การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรเพื่อขับเคลื่อนกลยุทธ์
microsoft-1
ภาพจาก shiningindianews

ด้วยวิสัยทัศน์ของนาเดลลาเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่ง ได้ให้คำมั่นว่าไมโครซอฟท์จะมุ่งเน้นเพิ่มผลิตผลทางเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์ฮาร์ดแวร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยกระบวนการทางด้านวิศวกรรมที่มีความทันสมัยเพื่อดึงดูดความสนใจจากลูกค้า ซึ่งจะมีทั้งความรวดเร็วและคุณภาพเป็นองค์ประกอบหลัก

2. Office ใช้ได้ทุกที่
microsoft-2
ภาพจาก forbes

นอกเหนือกลยุทธ์ Mobile-First Cloud-First  สัตยา นาเดลลา ยังต้องการให้โปรแกรม Office คลอบคลุมทุกอุปกรณ์ ทุกแพลตฟอร์ม พร้อมกับให้ผู้คนสามารถใช้บริการออนไลน์ได้จากทุกที่ ทุกเวลาบนระบบคลาวด์อย่าง OneDrive ของไมโครซอฟท์เอง ด้วยเหตุนี้ Office for iPad จึงเป็นจุดเริ่มแรกในบริการ Office รูปแบบใหม่ แม้จะสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี แต่การใช้งานเต็มรูปแบบผู้ใช้จะต้องสมัครบริการ Office 365 ควบคู่ไปด้วยเท่านั้น

3. Surface Pro 4 และ Surface Book
microsoft-3
ภาพจาก techcrunch

แบรนด์ Surface Pro ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีเยี่ยม และยิ่งมากขึ้นเมื่อการมาของ Surface Pro 4 รวมไปถึง Surface Book แท็บเล็ตลูกผสมที่เมื่อต่อเข้ากับคีย์บอร์ดแล้วสามารถใช้งานได้เสมือนแล็ปท็อป ประกอบกับหน้าจอสามารถใช้งานระบบสัมผัสร่วมกับปากกา Surface Pen ได้ นับเป็นอุปกรณ์จากไมโครซอฟท์ที่เรียกว่าสนใจให้กับผู้คนทั่วโลกได้มากที่สุดในรอบหลายปี และการเปิดตัวแท็บเล็ตลูกผสมดังกล่าวยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนธุรกิจฮาร์ดแวร์ในอนาคตของไมโครซอฟท์ได้เช่นกัน

4. มุ้งเน้นระบบคลาวด์มากขึ้น
microsoft-4
ภาพจาก dailytech

ในยุคที่การใช้ชีวิตต้องมีอุปกรณ์พกพาติดตัวไปด้วยทุกที่ ทำให้ไมโครซอฟท์จึงต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจ ภายใต้กลยุทธ์ใหม่ Mobile-First Cloud-First โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ผลักดันชุดโปรแกรมการทำงานบนคลาวด์ Office 365 ทั้งในส่วนของผู้ใช้ทั่วไปและภาคธุรกิจ โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ผลักดันชุดโปรแกรมการทำงานบนคลาวด์ Office 365 ทั้งในส่วนของผู้ใช้ทั่วไปและภาคธุรกิจ สามารถเชื่อมโยงการทำงานในหลายรูปแบบและให้ความปลอดภัย ตอบสนองการใช้งานในยุคโมบายได้เป็นอย่างดี

5. Windows 10
microsoft-5
ภาพจาก microsoftstore

ถือเป็นหมัดเด็ดจากไมโครซอฟท์เมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับระบบปฏิบัติการใหม่ที่กระโดดจาก Windows 8 ข้ามมาเป็น Windows 10 พร้อมคอนเซปต์ง่ายๆ คือ “One Windows” หรือระบบปฏิบัติการเดียวใช้ได้ทุกอุปกรณ์ มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและเพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ เข้ามามากมาย อาทิ Microsoft Edge เบราเซอร์รุ่นใหม่ แทนที่ Internet Explorer หรือมีผู้ช่วยฉลาดๆ รับคำสั่งได้ด้วยเสียง ที่เรียกว่า Cortana เป็นต้น

6. สู่โลกเสมือนจริงด้วย HoloLens
microsoft-6
ภาพจาก blogs.windows

นับเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่เรียกเสียงฮือฮาไม่ได้ไม่เบา สำหรับอุปกรณ์สวมใส่คล้ายแว่นตาจากไมโครซอฟท์ หรือเรียกมันว่า “HoloLens” มีการทำงานโดยใช้ร่วมกับโปรแกรม Windows และเทคโนโลยีโฮโลกราฟิก ทำให้ผู้สวมใส่สามารถเห็นภาพอันเกิดจากเกิดจากการจำลองขึ้นในรูปแบบต่างๆ และยังสามารถมีปฏิกิริยาโต้ตอบกับสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสายตาเราได้ ซึ่งปัจจุบันไมโครซอฟท์ได้จับมือกับองค์การนาซา เพื่อใช้ HoloLens และโปรแกรมเฉพาะในการวิจัยและพัฒนายานอวกาศและอุปกรณ์สำรวจที่ควบคุมโดยหุ่นยนต์ เพื่อใช้ในยานสำรวจดาวอังคาร

นอกจากนี้ HoloLens จะยังให้ประโยชน์ที่สำคัญต่ออาชีพต่างๆ มากมายในอนาคต เช่น แพทย์, วิศวะ, นักออกแบบ, ช่างซ่อม และอื่นๆ เป็นต้น

7. นำเทคโนโลยีพัฒนาสังคม
microsoft-7
ภาพจาก windowsteam

ในปีที่ผ่านไมโครซอฟท์ได้ตั้งองค์กรเพื่อการกุศล ที่เรียกว่า Microsoft Philanthropies โดยมีเป้าหมายในการทำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาสังคม ทั้งในด้านการศึกษา คุณภาพชีวิต และอื่นๆ เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ทั่วโลก และเมื่อต้นปี 2016 ไมโครซอฟท์ได้บริจาคเครดิตบริการคลาวด์ ได้แก่ Azure, Power BI, CRM Online ให้กับองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรให้ใช้งานฟรี 3 ปี คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และยังเดินหน้านำบริการคลาวด์เข้าถึงองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไรอีก 70,000 แห่งต่อไป

จากทั้ง 7 ข้อที่สรุปในครั้งนี้ เป็นเพียงผลงานส่วนหนึ่งของสัตยา นาเดลลา ในฐานะซีอีโอไมโครซอฟท์ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่หากถามว่าผลงานใดที่ยังไม่เข้าตา คงเป็นเรื่องของธุรกิจสมาร์ทโฟนที่นาเดลลายังต้องขบคิดเพื่อหาทางพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสต่อไป

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here