ชัดกว่า MRI ไทยใช้แสงซินโครตรอน สร้างแผนที่สมอง 3 มิติ

ไทยจับมือไต้หวันใช้แสงซินโครตรอน สร้างแผนที่สมองมนุษย์แบบ 3 มิติ ชัดกว่า MRI

ความท้าทายครั้งใหม่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อนักวิจัยจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการถ่ายภาพทางชีวการแพทย์ จากสถาบันฟิสิกส์ ไต้หวัน ร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นใหม่ โดยใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน สร้างแผนที่สมองมนุษย์ 3 มิติ ให้รายละเอียดเส้นทางเชื่อมต่อภายในสมอง ที่ชัดเจนมากกว่าภาพถ่าย MRI

เทคโนโลยีนี้เรียกว่า Synchrotron X-ray Microtomography จะทำหน้าที่สร้างภาพถ่าย 3 มิติของสมองมนุษย์ ที่คล้ายกับเครือข่ายคมนาคม เชื่อมต่อของสมองแต่ละจุด เพื่อให้ข้อมูลเส้นทางหลักของสมอง โดยเทคโนโลยีนี้จะช่วยให้นักวิจัยสามารถเลือกศึกษารายละเอียดของสมองในส่วนที่สนใจได้

ฝั่งนักวิจัยไทยเองก็มั่นใจว่า เครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องใหม่ของสถาบันที่มีขนาด 3 GeV ที่อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้ง จะช่วยทำให้ถ่ายภาพสมอง 3 มิติมีความละเอียดมากขึ้น จาก 1 ไมครอนให้เป็น 0.3 ไมครอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับงานวิจัยด้านอื่นๆ เช่น ช่วยวินิจฉัยโรคที่เกี่ยวกับสมอง

งานวิจัยนี้อยู่ในโครงการ SYNAPSE ที่อยู่ภายใต้ความร่วมมือของสมาพันธ์ Asia-Oceania Forum for Synchrotron Radiation Research (AOFSRR) ที่มีสมาชิกทั้งหมด 6 ประเทศ ที่มีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ จีน ออสเตรเลีย และไทย

สำหรับงานวิจัยนี้ แต่ละประเทศจะปรับเทคนิคการสร้างภาพ 3 มิติให้ได้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อถ่ายภาพ 3 มิติของสมองมนุษย์ในส่วนที่แตกต่างกัน โดยประเทศที่มีความพร้อมด้านซูเปอร์คอมพิวเตอร์จะรับหน้าที่ในการประมวลข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ได้จากการถ่ายภาพ 3 มิติด้วยแสงซินโครตรอน และเผยแพร่เป็นข้อมูลสาธารณะที่ทุกประเทศทั่วโลกนำไปใช้ประโยชน์ โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2024

#TechhubUpdate