ทีเส็บชูนวัตกรรมไมซ์ฝ่าโควิด 18 อีเวนต์ออนไลน์เดินหน้าภายในปีนี้

ทีเส็บเร่งเครื่องผู้ประกอบการใช้นวัตกรรมจัดงานไมซ์ มุ่งสร้างโอกาสขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์เดินหน้าต่อได้ในช่วงโควิด 19 ปัจจุบันมี 18 อีเวนต์พร้อมจ่อรอจัดงานออนไลน์ภายในสิ้นปีนี้ หลังได้รับการสนับสนุนผ่านโครงการ “MICE Winnovation” ที่มีการจับคู่ธุรกิจแล้วกว่า 150 คู่ ระหว่างผู้ประกอบการไมซ์และผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำนวัตกรรมมาใช้ในการจัดงาน

นางจารุวรรณ สุวรรณศาสน์ ผู้อำนวยการฝ่าย MICE Intelligence และ นวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า แม้ว่าสถานการณ์โควิด 19 จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ในปัจจุบัน แต่ทีเส็บยังคงเดินหน้าผลักดันโครงการ “MICE Winnovation” ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคม เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนธุรกิจ ยกระดับการจัดงานไมซ์ และขยายการรับรู้ไปยังกลุ่มเป้าหมายทั่วโลกผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือจำเป็นที่ช่วยให้ผู้ประกอบการไมซ์ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นการสนับสนุนผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และได้คิดค้นเทคโนโลยีรองรับงานไมซ์ในยุควิถีใหม่อีกด้วย

ผลจากการดำเนินโครงการ “MICE Winnovation” ระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไมซ์และผู้ให้บริการนวัตกรรมด้านไมซ์มากถึง 152 คู่ นำไปสู่ความร่วมมือในการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ๆ รองรับการจัดงานไมซ์ร่วมกัน มีการจับคู่ขอรับการสนับสนุนจากทีเส็บจำนวน 35 งาน โดยมีงานที่ผ่านการพิจารณาได้รับการสนับสนุนแล้วทั้งสิ้น 18 งาน

งานที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 18 งาน แบ่งเป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีการจัดงานแบบ Virtual / Hybrid Event จำนวน 15 งาน และเป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีบริหารจัดการผู้เข้าร่วมงาน หรือ Crowd Management Technology เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ จำนวน 3 งาน ปัจจุบันมีงานที่จัดไปแล้ว 2 งาน คือ งานประชุมใหญ่ไลออนส์สากลภาครวม 310 ประเทศไทย ครั้งที่ 55 ระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2564 มีผู้เข้าร่วมงานออนไลน์จากทั่วประเทศ 2,318 คน และงาน Bangkok Projection Mapping Competition 2021 (BPMC 2021) ซึ่งเป็นงานประกวดออกแบบสื่อภาพเคลื่อนไหว ระหว่างวันที่ 12-20 มิถุนายน 2564 มีผู้ชมงานผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งบนเฟซบุ๊กร่วม 20,000 ราย ส่วนงานที่เหลือมีกำหนดทยอยจัดในช่วงเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2564

ด้านนายภาโรจน์ เด่นสกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปอีเว้นท์ จำกัด กล่าวว่า “นวัตกรรมและเทคโนโลยี จะถือว่าประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีผู้ใช้งานจริง การที่เราได้จับคู่ธุรกิจร่วมงานกับผู้ประกอบการไมซ์ ซึ่งก็คือบริษัท ยิ้มเสมอ ในงาน BPMC 2021 เพื่อดำเนินการในส่วนของการจัดอีเวนต์แบบออนไลน์ ถือเป็นโอกาสที่ดีมากที่ทั้งสองบริษัทได้รับจากทางทีเส็บ เพราะในฐานะผู้พัฒนานวัตกรรม เป็นโอกาสดีที่เทคโนโลยีที่ทางบริษัทพัฒนาได้ถูกนำไปใช้งานอย่างแท้จริง และทางบริษัท ยิ้มเสมอ ในฐานะผู้จัดงานอีเวนต์ ก็ได้ทดลองใช้และเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเปิดกว้างและไม่จำกัดผู้เข้าร่วมงานแค่เพียงแบบออฟไลน์ แต่ยังสามารถเข้าถึงคนทั่วโลกทางออนไลน์ได้อย่างไร้ข้อจำกัด”

นายธนพงศ์ พานิชชอบ ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยิ้มเสมอ สตูดิโอ จำกัด กล่าวว่า “ในโลกยุคปัจจุบัน Multimedia Design, Interactive Design, Immersive Experience เป็นการนำเทคโนโลยีมาสร้างการมีส่วนร่วม และประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ร่วมงาน ตอนนี้เครื่องมือทางเทคโนโลยี ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมกลายมาเป็นเครื่องมือหลักที่ผู้จัดงานต้องนำมาใช้ในการสื่อสารและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมงาน การจัดงาน BPMC 2021 ที่ได้ทำงานร่วมกับบริษัท ซิปอีเว้นท์ ทำให้งานนี้กลายเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะช่วยสร้างความเข้าใจพื้นฐานให้กับสังคมเกี่ยวกับประโยชน์และคุณค่าของประเภทผลงานออกแบบสร้างสรรค์ในสังคม รวมถึงยังเป็นอีกหนึ่งพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับนักออกแบบ และศิลปินทั้งในประเทศและต่างประเทศได้แสดงศักยภาพของตนเพื่อนำไปสู่การต่อยอดทางด้านอาชีพ การสะท้อนสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจน ส่งเสริมในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ในอนาคต”

นางจารุวรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลตอบรับโครงการนี้ถือว่าดีมาก เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทีเสีบที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไมซ์นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้จัดงานได้จริง ตอบโจทย์การแก้ปัญหาได้ตรงใจ และเกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มความสามารถในการดำเนินงานให้กับผู้ประกอบการไมซ์แล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจแก่กลุ่มผู้ให้บริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีของไทย ทั้งยังเป็นการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยเสริมสร้างศักยภาพยกระดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในระดับนานาชาติอีกด้วย”

โครงการ “MICE Winnovation” ยังได้มีการพัฒนา “MICE Innovation Catalog” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไมซ์ และเป็นพื้นที่ทางการตลาดให้ผู้ประกอบการไมซ์เฟ้นหาคู่ค้า มีการจัดแบ่งหมวดหมู่นวัตกรรมไมซ์ครอบคลุมตั้งแต่ก่อนเริ่มงานจนจบงาน ซึ่งทีเส็บ และพันธมิตรจากทั้งภาครัฐ และสมาคมในอุตสาหกรรมไมซ์ ได้ร่วมพิจารณาคัดเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหมาะสมนำมาบรรจุไว้ใน “MICE Innovation Catalog” เป็นประจำทุกเดือน เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ผู้ประกอบการไมซ์สามารถเลือกใช้งานได้มากยิ่งขึ้น ปัจจุบันบนแพลตฟอร์มมีนวัตกรรมด้านไมซ์ที่พร้อมให้บริการกว่า 70 นวัตกรรม จาก 50 บริษัท ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ https://innocatalog.tceb.or.th

ขณะเดียวกัน ทีเส็บ ได้ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. หนึ่งในภาคีภาครัฐที่ร่วมโครงการ “MICE Winnovation” ในการแบ่งปันข้อมูลผู้ให้บริการนวัตกรรมร่วมกัน โดยปีนี้เป็นปีแรกที่ สนช. ได้เพิ่มหมวดหมู่ผู้ให้บริการนวัตกรรมสำหรับไมซ์ไว้ใน Innovation Catalog ด้าน Travel Tech และมี 6 บริษัทจากโครงการ “MICE Winnovation” ที่ได้รับการบรรจุไว้ในหมวดหมู่นี้ด้วย ได้แก่ บริษัท เอด้าซอฟท์ จำกัด บริษัทเดย์เวิร์ค จำกัด บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด บริษัท ลูปส์ รีเสิร์ฟ ยัวร์ ไรด์ จำกัด บริษัท คิว คิว (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซิปอีเว้นท์ จำกัด นอกจากนี้ บริษัท โพเชียเนียร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการนวัตกรรมและเทคโนโลยี จากโครงการ “MICE Winnovation” ยังได้รับทุนสนับสนุนจาก สนช. มูลค่า 1.5 ล้านบาท ในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีให้มีความทันสมัยและตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้มากขึ้น

“โครงการ “MICE Winnovation” เป็นการบูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้การจัดงานไมซ์เดินหน้าต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 และเตรียมความพร้อมรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศอย่างเต็มรูปแบบในอนาคต” นางจารุวรรณ กล่าวสรุป