[เร่งความเร็ว] จาก ‘จานเพาะเชื้อ’ สู่ ‘แบบจำลองเสมือนจริง’ พบนักวิจัยสร้างเนื้องอกจิ๋วด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ช่วยให้หาวิธีรักษาโรคมะเร็งได้เร็วยิ่งขึ้น และอาจช่วยทดสอบยารักษามะเร็งเฉพาะบุคคลได้ด้วย
ก้าวใหม่ของการวิจัยมะเร็ง TissueTinker บริษัทสตาร์ทอัพที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัยแมคกิลล์ (แต่ยังได้รับการสนับสนุน) ได้รวบรวมทีมนักวิจัยมากฝืมือ ช่วยกันสร้างเนื้องอกจิ๋วด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติได้สำเร็จ
จากการพิมพ์ 3 มิตินี้ ก็ทำให้ทีมวิจัยสามารถผลิตเนื้อเยื่อได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถกำหนดเป้าหมายเฉพาะจุดในการวิจัยมะเร็งได้เลย และยังได้ผลลัพธ์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตามพารามิเตอร์ที่กำหนดอย่างแม่นยำนี้ เปิดโอกาสให้ศึกษาผ่านกล้องจุลทรรศน์ ที่ปกติไม่สามารถทำได้ง่าย
เป้าหมายของ TissueTinker คือการหาวิธีทดสอบสำหรับการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง ด้วยการสร้างตัวอย่างเนื้อเยื่อชนิดเดียวกันสองชิ้น โดยชิ้นหนึ่งเป็นเนื้อเยื่อปกติ และอีกชิ้นเป็นเนื้อเยื่อที่เป็นโรค ซึ่งจากการเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่างที่สร้างเองทั้งหมด ก็ช่วยให้ทีมวิจัยสามารถศึกษาโรคมะเร็งได้ดียิ่งขึ้น
ในส่วนเนื้องอกจิ๋วที่สร้างด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิตินั้น ก็มีขนาดเล็กเพียง 300 ไมครอน โดยทาง Benjamin Ringler หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง TissueTinker เผยเป็นขนาดเหมาะสมที่สุดแล้ว เนื่องจากช่วยให้สังเกตคุณสมบัติเฉพาะได้ ซึ่งภายในเนื้องอกจะมีบริเวณที่มีภาวะขาดออกซิเจน อันเป็นปัจจัยก่อมะเร็ง ซึ่งทีมจะสามารถศึกษาโรคมะเร็งได้ง่ายขึ้นในขนาด 300 ไมครอนนี้เอง
ท้ายนี้การพิมพ์วัสดุชีวภาพแบบ 3 มิติเพื่อการวิจัยนี้ จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์พิเศษ ซึ่งอาจต้องรอวิจัยอีกซักพัก เก็บผลการทดลองอีกยาว แต่ก็ถือว่าย่นเวลาการหาทางรักษาโรคมะเร็ง ไปได้อีกขั้นแล้ว
ที่มา : Tomshardware