เทคโนโลยีถ่ายภาพผ่านผิวหนัง นวัตกรรมที่จะทำให้ "การโกหก" ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ช่วงนี้สมิตค่อนข้างยุ่งๆ (…กับอะไรก็ไม่รู้ 555) เลยไม่ค่อยมีเวลาเติมอาหารสมองด้วยการดูคลิปใน TED เท่าไหร่ค่ะ วันนี้พอมีเวลาเลยได้ดูคลิป TED คลิปหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ เขาพูดถึงเทคโนโลยีการจับโกหกรูปแบบใหม่ ที่แค่ถ่ายภาพเราก็จะรู้ทันทีว่าใครโกหก โอ้ว!

 

ted-can-u-really-tell

เทคโนโลยีดังกล่าวมีชื่อว่า Transdermal Optical Imaging หรือ เทคโนโลยถ่ายภาพผ่านผิวหนังค่ะ ถูกพูดถึงในคลิปวีดีโอชื่อ Can you really tell if a kid is lying? (คลิปนี้มีซับภาษาไทยด้วย เข้าไปดูได้ที่ลิ้งค์นี้ค่ะ >> http://www.ted.com/talks/kang_lee_can_you_really_tell_if_a_kid_is_lying ) สำหรับใครที่ขี้เกียจดู เราก็จะสรุปเนื้อหาสั้นๆให้ฟังกันค่ะ

ในคลิป คุณ Kang Lee อธิบายให้เราฟังเกี่ยวกับการโกหกของเด็กๆ ซึ่งได้ข้อสรุปหลายอย่าง ดังนี้

  1. เด็กๆจะโกหกกันมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น (เด็ก 2-3 ขวบมีแนวโน้มจะโกหกน้อยกว่าเด็ก 5-6 ขวบ)
  2. อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ของเด็ก ไม่ต้องกังวลจนเกินไปถ้าพบว่าลูกของคุณเริ่มโกหกตั้งแต่ยังตัวเล็กๆ เพราะการโกหกเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงพัฒนาการที่ควรจะเป็นไปในตัวเด็ก
  3. ปกติแล้ว การโกหกจะต้องใช้สกิลสำคัญ 2 อย่าง ข้อแรกคือ การอ่านใจคนที่เราจะหลอก (คือต้องดูออกว่าฝ่ายที่จะโดนหลอกนั้น “รู้” หรือ “ไม่รู้” ในสิ่งที่เรากำลังจะโกหก พูดง่ายๆก็คือ เรารู้ว่าเขาไม่รู้ในสิ่งที่เรารู้ หรือไม่นั่นเอง :P) และข้อสองคือการควบคุมตนเอง คนที่จะโกหกได้แนบเนียนจะต้องสามารถควบคุมอารมณ์ สีหน้า และการแสดงออกได้ดี ซึ่งทั้งสองสกิลนี้ถือเป็นทักษะที่สำคัญของมนุษย์ ..สรุปว่าคนที่โกหกเก่งก็ไม่ได้แย่เสมอไปนะเนี่ย ถถถ
  4. เรามักคิดกันว่าการโกหกของเด็กๆจะจับผิดได้ง่าย เพราะเด็กๆมักแสดงพิรุธออกมา …แต่ทว่า จากการทดลองพบว่าผู้ใหญ่ไม่ว่าจะอยู่ในอาชีพไหนๆ โดยเฉลี่ยแล้วก็ไม่ได้สามารถจับโกหกเด็กๆได้จริงเลย การดูแค่สีหน้าและกิริยาท่าทางจึงไม่สามารถให้คำตอบที่ชัดเจนได้ว่าเด็กคนนั้นกำลังโกหกหรือไม่

TOI2

ปรากฎการณ์พินอคคิโอ เป็นปรากฎการณ์ที่เมื่อคนเราโกหก เลือกจะไหลเวียนมาตรงจมูกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาเกี่ยวกับการโกหกของเด็กๆมาอย่างยาวนาน ทำให้ทีมวิจัยของคุณ Kang Lee ค้นพบวิธีการจับโกหกวิธีใหม่ได้ โดยดูจากการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้า ซึ่งการไหลเวียนของเลือดบนใบหน้านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ปกติควบคุมไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามระบบประสาทอัตโนมัติของร่างกาย และไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่า

และนี่เองคือจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยี Transdermal Optical Imaging (TOI) หรือ เทคโนโลยีถ่ายภาพผ่านผิวหนัง ที่ทำให้เราสามารถมองเห็นการไหลเวียนของเลือดได้จากภาพใบหน้าของคนในคลิปวีดีโอ ทำให้สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ต่อได้ว่าคนๆนั้นโกหกหรือไม่ (รวมถึงวิเคราะห์ได้ด้วยว่าคนๆนั้นกำลังรู้สึกอย่างไร มีความเครียดมากน้อยแค่ไหน) วิธีนี้น่าสนใจกว่าวิธีจับโกหกด้วยวิทยาศาสตร์อื่นๆที่ผ่านมา เพราะสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมใดๆใส่ในตัวผู้ถูกตรวจสอบ และสามารถคาดเดาได้แม่นยำถึง 85% ในขณะนี้

ถือเป็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจมากๆ แต่ในขณะเดียวกันก็ “น่ากลัว” มากๆเช่นกัน เพราะยิ่งมีความแม่นยำมากเพียงใด มันก็เหมือนกับว่ามนุษย์เราจะโดนอ่านใจได้ง่ายมากเท่านั้น ร้านค้าหรือธุรกิจต่างๆสามารถอ่านใจเราได้ง่ายๆโดยนำภาพจากกล้องวงจรปิดไปวิเคราะห์ต่อ

ท้ายคลิป คุณ Kang Lee บอกว่า “เทคโนโลยีนี้จะทำให้การโกหกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” แต่สมิตฟังๆไปแล้วแอบรู้สึกว่า “เทคโนโลยีนี้จะทำให้การใช้ชีวิตของเราไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” เสียมากกว่า หากมันสามารถพัฒนาไปจนถึงขั้นที่อ่านความรู้สึกเราได้อย่างแม่นยำมากๆจริงๆ และถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ มันก็น่าสนใจเหมือนกันว่าเราจะมีมาตรการอะไรมารองรับไม่ให้ผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไป

.

.

.

สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมของเทคโนโลยีใหม่นี้ ติดตามได้ที่ http://www.nuralogix.com/

 

เผนแพร่ครั้งแรก SamitaSpace

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here