Wireless Life เมื่อชีวิตไม่ต้องพึ่ง “เส้นสาย” (ตอนจบ)

หลังจากทีมงานแนะนำตอนแรกของ Wireless Life เมื่อชีวิตไม่ต้องพึ่ง “เส้นสาย” กันไปแล้ว วันนี้มาติดตามสาระน่ารู้ของเทคโนโลยีไร้สายตอนจบ เชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะทำให้ทุกท่านได้รู้จักและได้ทดลองใช้เทคโนโลยีไร้สายในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น 

เทคโนโลยีไร้สาย

Wireless Display ฉายภาพสดไร้สาย

จากเรื่องของข้อมูล เรามาดูเทคโนโลยีเฉพาะด้านอีกหน่อยที่ถูกพัฒนาให้ไร้สาย นั่นคือ “จอภาพ” ซึ่งในปัจจุบันอาจจะเห็นไม่แพร่หลายมากนัก เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องปริมาณข้อมูลที่ต้องส่ง อาจจะยังไม่สามารถทำความเร็วได้เพียงพอต่อความต้องการ เราจึงเห็นมีการใช้งานแค่บางกรณีเท่านั้น

แต่เดิมถ้าเราต้องการต่อสายออกจากภาพสำหรับคอมพิวเตอร์ก็จะมีสายอยู่ประมาณ 3 แบบ แบ่งตามหัวที่เชื่อมต่อคือ D-Sub (VGA), DVI และ HDMI อาจจะมีบ้างที่ใช้ Display Port หรือ Thunderbolt ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่อง Mac ดังนั้นเราจึงพบกับปัญหาสายต่อไม่ตรงกับพอร์ตที่มี และต้องหาหัวแปลงมาใช้ให้วุ่นวาย รวมถึงบรรยากาศในห้องประชุมที่คุ้นเคยกับเรื่องสายยาวไม่ถึงทุกจุดทั่วโต๊ะประชุม ทำให้ต้องสลับที่นั่งกันวุ่นวาย

การใช้ Wireless Display เป็นการยิงสัญญาณภาพไปยังจอภาพที่รองรับ ผ่านทางสัญญาณไร้สาย ซึ่งโดยมากจะเป็น WiFi Direct หรืออาจจะเป็น DLNA โดยมีหลายมาตรฐานในปัจจุบันที่นิยมใช้งานกัน

อย่างแรกเป็นเทคโนโลยีของ Intel Wi-Di ซึ่งในโน้ตบุ๊กหลายรุ่นที่ใช้ซีพียูของ Intel พร้อมการ์ดจอของ Intel ด้วย ทำให้สามารถใส่ฟังก์ชันนี้เข้าไปได้ และยังสามารถทำงานร่วมกับอุปกรณ์ของ ChromeCast ได้อีกด้วย

ChromeCast ใช้สะดวกดี มีอุปกรณ์รองรับเยอะ

ChromeCast เป็นมาตรฐานของทางฝั่ง Android ซึ่งมือถือหลายรุ่นของ Android รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ Android มักจะมีความสามารถนี้ด้วย และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐานที่มีอุปกรณ์รองรับมากที่สุดสำหรับกลุ่ม Wireless Display ก็ว่าได้ เพราะรองรับทั้ง Doogle แบบ HDMI ที่ต่อกับทีวี หรือจะเป็นสมาร์ตทีวีที่รองรับ Screen Mirroring ได้หมดเลย

Apple TV คิดหนักถ้าจะซื้อ !!

อีกหนึ่งเทคโนโลยีเป็นของ Apple เอง ซึ่งสามารถยิงภาพสดจากอุปกรณ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น Mac, iPhone, iPad ได้ โดยใช้ตัวรับคือ Apple TV ที่เชื่อมต่อกับทีวีผ่าน HDMI อีกทอดหนึ่ง ทำให้ Apple TV กลายเป็นอุปกรณ์ที่ดูมีคุณค่าขึ้นมาทันที เพราะสามารถรับสัญญาณภาพจากอุปกรณ์ Apple ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ ได้ แต่น่าเสียดายที่ Apple TV รุ่นใหม่นั้นราคาแพงเฉียดหมื่นบาท จากเดิมแค่ 2-3 พันบาท ใครที่คิดจะซื้อมาใช้แค่นี้คงไม่คุ้มแล้วล่ะ

ที่เหลือก็จะเป็นเทคโนโลยีของโปรเจ็กเตอร์ที่ผู้พัฒนาใส่ฟังก์ชัน WiFi และมีโปรแกรมเฉพาะสำหรับดึงภาพหน้าจอจากคอมพิวเตอร์ไปแสดงบนโปรเจ็กเตอร์ได้ ซึ่งบางเจ้าก็เลือกใช้ ChromeCast ไปเลย ส่วนบางเจ้าจะเลือกพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นของตัวเอง ดังนั้นจะซื้ออุปกรณ์เหล่านี้อาจจะต้องดูรายละเอียดกันหน่อย

เมาส์คีย์บอร์ดไร้สาย เรื่องง่าย ๆ จ่ายถูก ๆ

ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร สำหรับเมาส์และคีย์บอร์ดไร้สายที่เราใช้งานกันมาเนิ่นนาน ซึ่งนับวันจะยิ่งมีราคาที่ถูกลงเรื่อย ๆ จนคุณรู้สึกว่าเพิ่มเงินอีกนิดเดียวก็สามารถซื้อได้แล้ว ไม่แพงเหมือนเมื่อก่อน โดยคีย์บอร์ดไร้สายอย่างเดียวหลัก 2-3 ร้อยบาทก็มีให้เห็นแล้ว ส่วนเมาส์ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่ประมาณ 4-5 ร้อยบาทขึ้นไป ซึ่งนับว่าถูกมาก และที่ว่ามาทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นที่ใช้ RF หรือคลื่นวิทยุ 2.4GHz ปกติเท่านั้น โดยสังเกตง่าย ๆ คือจะมี USB Dongle ขนาดเล็กมาให้ ทำให้สามารถใช้ได้กับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้ Android (ที่มีช่องเสียบ USB) ได้เท่านั้น

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยเห็นมีใครเลือกใช้ในท้องตลาดคือ Bluetooth โดยเมาส์และคีย์บอร์ดแบบ Bluetooth นี้จะถูกใช้โดย Apple เป็นหลัก ส่วนแบรนด์อื่น ๆ จะมีมาให้เห็นบ้างประปราย ซึ่งข้อดีของ Bluetooth คือคุณไม่ต้องเสียพอร์ต USB ไป 1 ช่อง เพราะมันเชื่อมต่อกับสัญญาณ Bluetooth ของเครื่องคอมพิวเตอร์เลย และนั่นคงเป็นเหตุผลที่ Apple เลือกใช้ Bluetooth มากกว่า เพราะให้พอร์ต USB มาน้อยอยู่แล้ว

เอาเป็นว่าจะเลือกใช้แบบไหนก็ลองไปจับ ๆ ลอง ๆ ดูให้พอใจก่อน เพราะของแบบนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพ แต่ขึ้นอยู่กับความถนัดเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครบอกได้นอกจากตัวคุณ

อีกแบบหนึ่งที่รวมเอาคีย์บอร์ดกับทัชแพดไว้ สะดวกดีเมื่อใช้กับทีวี

อีกหนึ่งประโยชน์สำหรับคีย์บอร์ดเมาส์ไร้สาย คือการเชื่อมต่อกับสมาร์ตทีวี หรือพวก Android Box ซึ่งจะช่วยให้ควบคุมการใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานที่ต้องพิมพ์ข้อความยาว ๆ อย่างการแชตกับเพื่อน (บนจอทีวี) การเข้าเว็บ หรือการค้นหาเพลงใน Youtube ซึ่งสมาร์ตทีวีเดี๋ยวนี้ทำได้อยู่แล้ว

หูฟังไร้สาย จาก Bluetooth สู่ W1

พูดถึงเรื่องภาพไปแล้ว มาพูดถึงเรื่องเสียงกันบ้าง เพราะเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะหูฟังไร้สายที่ออกแบบให้มีหลายรูปแบบ ทั้งแบบเหน็บหูเป็นสมอลทอร์ค หรือจะเป็นหูฟังสเตอริโอสองข้างเหมือนปกติก็มีให้เลือกเช่นกัน แต่ทั้งหมดก็เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน ไม่ต้องมีสายเกะกะให้ผู้ใช้ต้องรำคาญ

อีกกลุ่มหนึ่งคือลำโพงแบบไร้สายที่เชื่อมต่อผ่าน Bluetooth ช่วยให้คุณสามารถเล่นเพลงได้อย่างดังกระหึ่มกว่าการเปิดด้วยลำโพงจิ๋วของสมาร์ตโฟนเอง รวมถึงดังกว่าลำโพงของโน้ตบุ๊กบางรุ่นอีกด้วย ซึ่งการออกแบบมาให้ไม่มีสายมาเกะกะ ก็ช่วยให้สะดวกต่อการจัดวาง เคลื่อนย้าย และใช้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะสมาร์ตโฟนที่คุณสามารถถือใช้งานอย่างอื่นต่อได้ในขณะที่เล่นเพลง เพื่อสร้างความหรรษากับเพื่อน ๆ ที่ไปเที่ยวด้วยกัน

เรายังได้เห็นเทคโนโลยีไร้สายไปติดตั้งอยู่ในรถยนต์หลายรุ่น ในส่วนของเครื่องเสียงที่มักจะให้วิทยุพร้อมการเชื่อมต่อ Bluetooth ได้ในตัวเพื่อรับสายในขณะขับรถ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับรถ เพิ่มความสะดวกกับผู้ใช้ และอาจจะเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้ที่มีความลับเยอะ ๆ ทั้งหลาย เพราะรับที่ได้ยินกันทั้งรถนะครับ

แม้ว่า Bluetooth จะเป็นเทคโนโลยีที่สะดวกที่สุด แต่ข้อจำกัดหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือคุณภาพเสียง เนื่องจาก Bluetooth เป็นการส่งข้อมูลระยะใกล้ ความเร็วไม่สูงมาก ข้อมูลเสียงจึงจำเป็นต้องถูกบีบอัดมากหน่อยเพื่อให้ส่งข้อมูลได้อย่างราบรื่น คุณภาพเสียงที่ได้จึงถูกบีบขนาดที่นักฟังเพลงอาจจะรับไม่ได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงหันกลับไปใช้สายสัญญาณเชื่อมต่อปกติแทน

ล่าสุดกับ iPhone7/ 7 Plus ที่มีการตัดช่องหูฟังออกไป แล้วเสริมเข้ามาด้วยชิป W1 ซึ่งเป็นชิปที่ควบคุมการส่งข้อมูลเสียงผ่านระบบไร้สายไปยังหูฟัง AirPod รุ่นใหม่ล่าสุดเช่นเดียวกัน โดยไม่พึ่งพา Bluetooth อีกต่อไป ผลที่ได้คือคุณภาพเสียงดีขึ้น เพราะถูกบีบอัดน้อยลง และอาจจะใช้เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกับพวก WiFi-Direct เพื่อให้ส่งข้อมูลได้มากขึ้น แต่ไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีอะไร ก็ต้องใช้ชิป W1 ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นคุณต้องมี iPhone7 ก่อน ส่วนหูฟังตอนนี้มี AirPod ตัวเดียว และจะมีตามออกมาในอนาคตเร็ว ๆ นี้แน่นอน รวมถึงราคาก็คงแพงแน่นอนเช่นเดียวกัน

Qi ชาร์จไร้สาย ทำให้จริง ๆ

หนึ่งในเทคโนโลยีที่เราไม่ค่อยเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้ ก็คือการชาร์จแบบไร้สาย ซึ่งเราเข้าใจกันใช่ไหมครับว่ากระแสไฟฟ้าต้องการตัวกลางในการเดินทาง และมันคือกระแสไฟฟ้าปริมาณที่มากพอจะชาร์จประจุไฟฟ้าเข้าไปในแบตเตอรี่ได้ ไม่ใช่เพียงแค่กระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ที่นำพาสัญญาณไปเหมือนปกติ ดังนั้นเรื่องการชาร์จไร้สายจึงเป็นความท้าทายที่น่าชื่นชมคนประดิษฐ์เสียเหลือเกิน

หัวใจสำคัญของเทคโนโลยีนี้อยู่ที่การส่งคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าความเข้มสูงออกมาในระยะใกล้ ๆ เพื่อเหนี่ยวนำขดลวดที่ถูกฝังอยู่ในอุปกรณ์ให้เกิดกระแสไฟฟ้า เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของพลังงานรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายก็ถูกแปลงกลับมาเป็นไฟฟ้าชาร์จเข้าแบตเตอรี่อยู่นั่นเอง

ความสะดวกก็เห็น ๆ อยู่ แต่ข้อเสียก็มีแน่นอน เพราะด้วยการใช้คลื่นแม่เหล็กที่ไม่ได้เป็นตัวกลางที่ดี ประกอบกับการแปลงพลังงานไปมาในรูปแบบต่าง ๆ ส่งผลให้เราสูญเสียพลังงานไปโดยเปล่าประโยชน์มากมาย นั่นหมายถึงคุณจะเปลืองไฟมากกว่าเดิม เมื่อชาร์ตมือถือให้เต็มเท่ากัน และอาจจะใช้ระยะเวลานานกว่าด้วย แต่ใครจะแคร์ในเมื่อมันเปลืองขึ้นอีกนิดเดียว เผลอ ๆ มันอาจจะประหยัดกว่าการเสียเงินซื้อสายชาร์จที่เสียบ่อยเป็นว่าเล่นด้วยซ้ำ

ชอปปิงง่าย แค่ใช้มือถือแตะ

อีกเทคโนโลยีหนึ่งก็คือการจ่ายเงิน ซึ่งปกติก็ไม่ได้มีสายมาให้เกะกะอยู่แล้ว จะมีก็แต่ตัวแบงค์ ตัวเงินที่ต้องควักออกมานับ หรือบัตรต่าง ๆ ที่ต้องพก ที่ต้องหาออกมารูด ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีที่ใช้ในการจ่ายเงินที่สะดวกสบายมากมาย โดยเฉพาะการจ่ายผ่านสมาร์ตโฟน

เมื่อสมาร์ตโฟนเริ่มมีการติดตั้งเทคโนโลยี NFC กันมา 2-3 ปีแล้ว การนำเอา NFC มาใช้ประโยชน์ในด่านต่าง ๆ จึงเห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงิน ที่เราเริ่มมีให้เห็นใช้งานกันในเมืองนอกมากขึ้น ส่วนในเมืองไทยก็เริ่มมีใช้บ้างแล้วในบางที่

การใช้งานเทคโนโลยีกลุ่มนี้ จะถูกนำมาแทนที่บัตรที่เราใช้ “แตะ” เช่น บัตรรถไฟฟ้า บัตรในกลุ่ม Smart Purse ซึ่งเราใช้จ่ายเงินโดยมีตัวรับสัญญาณอยู่ที่แคชเชียร์หรือเครื่องอ่านบัตรอยู่แล้ว การนำสมาร์ตโฟนมาแทนที่ จะช่วยให้เราลดการพกบัตรได้ ไมว่าจะเป็นบัตรเหล่านี้ หรือบัตรเครดิตที่บางที่เริ่มใช้งานผ่านการแตะได้เช่นกัน

เรื่องของการชำระเงินนั้น ในทางเทคนิคไม่ใช่เรื่องยาก เพราะแค่สมาร์ตโฟนรองรับ NFC และที่จุดชำระเงินมีเครื่องอ่านก็จบแล้ว แต่ที่เรายังไม่เห็นมีการใช้งานกันเยอะเพราะต้องดูถึงความสะดวกในการใช้งานของผู้ใช้โดยรวม รวมถึงการตกลงกับร้านค้าต่าง ๆ ที่จะต้องติดตั้งเครื่องอ่าน NFC ให้ครอบคลุม รวมถึงข้อตกลงทางธุรกิจที่มีรายละเอียดอีกมากมาย เอาเป็นว่าเราจะได้ใช้แน่ ๆ แต่ไม่รู้เมื่อไหร่เท่านั้นเอง คงคล้าย ๆ กับบัตรประชาชนเราที่มีชิปติดไว้นานแล้ว แต่ยังไม่เคยได้ใช้ให้เกิดประโยชน์อะไรนั่นแหละครับ ก็หวังว่าสักวันคงได้ใช้เหมือนกัน

และนี่คือเทคโนโลยีไร้สายต่าง ๆ ที่เราพบเจอกันอยู่ทุกวัน ใครที่ชอบแบบไหน พร้อมที่จะเปลี่ยนไปใช้อะไร ก็ลองเลือกดูตามที่ตัวเองถนัด อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า สายยังคงเป็นตัวกลางที่ดีกว่า แต่ถ้าคุณไม่ได้เน้นคุณภาพหรือประสิทธิภาพแบบสุดโต่ง แค่ใช้งานได้ แถมท้ายด้วยความสะดวกที่เพิ่มเข้ามา เทคโนโลยีไร้สายก็จะกลายเป็นสิ่งที่คุณควรรีบหามาใช้โดยไวเลยครับ … ถ้าไม่แพงเกินไปนะ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here