หัวเว่ยถอนฟ้องสหรัฐ หลังได้รับอุปกรณ์ที่ถูกยึดไปนาน 2 ปีกลับคืน

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี ยูเอสเอ อิงค์ (HT USA) บริษัทลูกของหัวเว่ยในสหรัฐอเมริกา ได้ดำเนินการถอนฟ้องกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกา และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐอีกหลายหน่วยงานที่บริษัทได้ยื่นฟ้องไปเมื่อเดือนมิถุนายนก่อนหน้า

โดยคดีดังกล่าวเป็นการตอบโต้ที่เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ได้ยึดอุปกรณ์โทรคมนาคมของหัวเว่ยไปเมื่อเดือนกันยายน 2560 โดยไม่มีเหตุอันควร หัวเว่ยตัดสินใจถอนฟ้องคดีดังกล่าวหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ ได้คืนอุปกรณ์ให้ภายหลังจากยึดอุปกรณ์ไปเป็นเวลานานโดยไม่ชี้แจง

ซึ่งหัวเว่ยมองว่าเป็นการยอมรับโดยปริยายว่าการยึดอุปกรณ์ไปนั้นมิชอบด้วยกฎหมายและเป็นการกระทำโดยพลการ คดีนี้ได้รับการกล่าวถึงในฐานะหนึ่งในข้อกังวลมากมายที่บริษัทได้แจกแจงไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ เกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่ยุติธรรมต่อหัวเว่ยโดยรัฐบาลสหรัฐฯ

อุปกรณ์ดังกล่าวมีตั่งแต่เซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ สวิตช์อีเธอร์เน็ต และอุปกรณ์โทรคมนาคมอื่น ๆ ที่ผลิตโดยหัวเว่ยในประเทศจีน ควรได้รับการส่งกลับประเทศจีนภายหลังจากที่ได้ดำเนินการทดสอบเชิงพาณิชย์และการรับรองที่ห้องปฏิบัติการแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนียเมื่อเดือนกันยายน 2560

กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ อ้างถึงข้อกังวลด้านการละเมิดระเบียบด้านการส่งออกซึ่งไม่สามารถระบุได้และทำการยึดอุปกรณ์ดังกล่าวในระหว่างการขนส่ง 2 ปีผ่านนับตั้งแต่วันนั้น

แม้ว่าจะมีการร้องขอหลายครั้งจากหัวเว่ย รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถตัดสินได้ว่าจำเป็นต้องมีใบอนุญาตส่งออกหรือไม่สำหรับการส่งอุปกรณ์ที่นำมาทดสอบกลับไปยังประเทศจีน และยังคงยึดอุปกรณ์ต่อไปอีก

หัวเว่ยจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการยื่นฟ้องต่อศาลแขวงเขตโคลัมเบียของสหรัฐฯ ในวันที่ 21 มิถุนายน เพื่อเรียกร้องขอความกระจ่างในเรื่องความล้มเหลวของสหรัฐฯ ในการตัดสินใจว่าอุปกรณ์ของหัวเว่ยจำเป็นต้องมีใบอนุญาตส่งออกหรือไม่ บริษัทรอคำตอบมาเป็นเวลานานและไม่ได้รับคำอธิบายใด ๆ การดำเนินการของรัฐบาลสหรัฐฯ ละเมิดกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครอง รวมถึงกฎหมายอื่น ๆ ด้วย

และในคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาลแขวงเขตโคลัมเบียของสหรัฐฯ หัวเว่ย เทคโนโลยี ยูเอสเอ ระบุไว้ว่าบริษัทต้องการคำอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อชี้แจงสาเหตุในการยึดอุปกรณ์เมื่อปี 2560 รวมถึงสาเหตุในการเลือกคืนอุปกรณ์ในช่วงเวลานี้ และเหตุใดจึงใช้เวลาถึง 2 ปีในการตระหนักว่าการยึดอุปกรณ์ครั้งดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบ จนถึงตอนนี้สหรัฐฯ ยังปฏิเสธที่จะให้คำอธิบาย

“การกระทำโดยมิชอบและโดยพลการของหน่วยงานรัฐในลักษณะนี้ อาทิเช่น การยืดทรัพย์สินโดยไม่มีสาเหตุหรือคำอธิบาย ควรเป็นเครื่องเตือนใจให้แก่บริษัททั้งหลายที่ดำเนินธุรกิจโดยชอบธรรมอยู่ในสหรัฐฯ และยังควรมีบทลงโทษทางกฎหมายด้วย”