192.168.1.1 มันคืออะไร สำคัญไฉน ? ทำไมต้องจำให้ได้

ช่วงนี้เจอคนถามเรื่องการตั้งค่า Router กันบ่อยมาก เรียกได้ว่าพูดคำว่า “192.168.1.1” จนลิ้นรัวกันเลยทีเดียว หลายคนก็สงสัยว่าไอ้เจ้า 192.168.1.1 นี่มันคืออะไรกันแน่ และทำไมทุกคนต้องใช้ ต้องจำเหมือนกันหมด จนแทบจะเป็นสูตรลับสำหรับการทำเน็ตเวิร์กกันเลยทีเดียว

สำหรับคนที่พอมีความรู้พื้นฐานเน็ตเวิร์กบ้างจะทราบว่าหมายเลขรหัสลับนี้คือ IP Address ซึ่งถ้าให้เข้าใจง่าย ๆ มันเหมือนกับบ้านเลขที่บนเครือข่ายที่ทำให้เรารู้ได้ว่าข้อมูลที่เราจะส่งนั้นจะจ่าหน้าพัสดุถึงใคร หรือจะติดต่อใครในเครือข่าย ดังนั้น ทุก ๆ อุปกรณ์ที่อยู่ในระบบเครือข่ายก็จะต้องมี IP Address ประจำตัว


จริงอยู่ว่าในทางเทคนิคแล้ว IP Address มีความสลับซับซ้อนอยู่เหมือนกัน แต่เอาให้เข้าใจง่าย ๆ สำหรับผู้ใช้งานตามบ้านที่มีจำนวนเครื่องไม่เยอะมาก ประมาณ 2 ร้อยกว่าอุปกรณ์ในวงแลน จะใช้ IP Address มาตรฐานคือ 192.168.1.xxx นั่นคือที่มาของ 192.168.1.1 หมายถึงเครื่องแรกในวงแลน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวหลักที่ช่วยจัดการให้เครื่องอื่น ๆ สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้ นั่นคือเหตุผลที่เราเตอร์ส่วนใหญ่ใช้ IP Address เป็น

  • 192.168.1.1 เป็นค่ามาตรฐานจากโรงงาน จนกลายเป็นที่ทราบกันดีแล้ว
    อันที่จริงมีเราเตอร์หรืออุปกรณ์อีกหลายรุ่นที่อาจจะใช้หมายเลขที่แตกต่างออกไป เช่น 192.168.0.1 หรือ
  • 192.168.2.1 ซึ่งเลขชุดที่ 3 จะหมายถึงวงแลนที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงถูกระบุว่าเป็นเครื่องแรกในวงแลนอยู่
  • ด้วยการลงท้ายด้วยหมายเลข 1 นั่นเอง เอาเป็นว่าปัจจุบันเราเตอร์ที่ออกแบบมาให้ตั้งค่าได้สะดวกมักจะใช้หมายเลข 192.168.1.1 กันหมดเพื่อให้ผู้ใช้คุ้นเคยและจำง่ายนั่นเอง

อย่างที่บอกไว้ว่าเราเตอร์นั้นถือว่าเป็นเครื่องแรกในวงแลน ซึ่งมันทำหน้าที่ควบคุม แจกจ่าย IP Address ให้กับเครื่องอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อเข้ามา ควบคุมการส่งข้อมูล และทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อไปยังอินเทอร์เน็ตและแชร์ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ในวงแลนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ด้วย ดังนั้นการตั้งค่าทุกอย่างจะถูกกำหนดตามการตั้งค่าของเราเตอร์นี่แหละ

ปัญหาที่เราเจอกันบ่อย ๆ สำหรับการใช้งานในปัจจุบันที่ในบ้านเรามีเราเตอร์มากกว่า 1 ตัว และทุก ๆ ตัวเมื่อแกะกล่องออกมาใช้งานจะมี IP Address ตั้งต้นเป็น 192.168.1.1 เสมอ นั่นหมายความว่าถ้าเราเชื่อมต่อเราเตอร์ทุก ๆ ตัวเข้าด้วยกัน จะเกิดบ้านเลขที่ซ้ำกันขึ้นมาในเครือข่าย และข้อมูลก็ไม่รู้ว่าจะต้องถูกส่งไปที่เครื่องไหนกันแน่ และทำให้เครือข่ายมีปัญหา

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นคือต้องการซื้อเราเตอร์ไปต่อพ่วงเพื่อทำงานแทนเราเตอร์เดิมที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตแถมมา ซึ่งแปลว่า IP Address ของทั้งสองเครื่องจะเป็นหมายเลขเดียวกันเป๊ะ ถ้าเชื่อมต่อเข้าด้วยกันแล้ว IP ชนกันจะทำให้ไม่สามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้เลย ถ้าโชคดีหน่อยคือสามารถพิมพ์ 192.168.1.1 ได้ แต่มันจะเข้าไปที่หน้าตั้งค่าของเราเตอร์ตัวไหนไม่อาจทราบได้ ทำให้สับสนวุ่นวายไปหมด

สำหรับคนที่เจออาการเดียวกันนี้ วิธีแก้ไขง่าย ๆ ให้ใช้คอมพิวเตอร์เข้าไปตั้งค่าเราเตอร์ที่คุณซื้อมาใหม่ให้เรียบร้อยก่อน โดยเฉพาะการเปลี่ยนหมายเลข IP Address ของเครื่องให้เป็นหมายเลขอื่น จากนั้นจึงเชื่อมต่อกับเราเตอร์หลักถึงจะสามารถใช้งานได้นั่นเอง

จากคอลัมณ์ Network ประจำ Comtoday ฉบับที่ 549 เขียนโดย Admee

ตอนต่อไป “Router อยู่ไหน แล้วเราใช้ IP อะไร ไม่ใช่เรื่องยาก”