เจาะเทรนด์ 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” ตอนที่ 1

เผย 5 อาชีพยอดฮิตในโลกออนไลน์ ที่สามารถทำเองคนเดียวที่บ้านได้ อาทิ นักเขียนคอนเทนต์ นักรีวิว นักแคสเกม ติวเตอร์ออนไลน์ และช่างภาพสต็อก จะมีอาชีพไหนบางที่เหมาะกับเรา และแต่ล่ะอาชีพเป็นยังไง กับหาเงินได้ยังไง มาดูกันครับ

“ไม่ทำงานก็อดกิน” คงไม่ต้องบรรยายให้มากความสำหรับคำนี้ แต่รู้ไหมว่า นอกเหนือจากอาชีพที่เรากำลังทำอยู่หรือรู้จักแล้ว ยังมีอาชีพอีกประเภทหนึ่งที่สามารถทำเองคนเดียวที่บ้านได้ โดยไม่ต้องมีเวลาว่าง 3 ชั่วโมง ไม่ต้องนั่งคีย์ข้อมูลง่าย ๆ หรือคุยงานประชาสัมพันธ์ (คุ้น ๆ เนอะ) แต่คุณอาจต้องใช้เวลาเทียบเท่ากับเวลาทำงานจริง! เหนื่อยจริง! มีรายได้จริง! และสนุก! แถมยังช่วยให้เรามีผลงานติดตัวอีกด้วย นั่นคือ “5 อาชีพในโลกออนไลน์” อาทิ นักเขียนคอนเทนต์ นักรีวิว นักแคสเกม ติวเตอร์ออนไลน์ และช่างภาพสต็อก ซึ่งมีจุดเด่นตรงที่ “ลุยคนเดียวได้” นั่นเอง แต่จะมีอาชีพไหนบางล่ะที่เหมาะกับเรา Cover Story ฉบับนี้จึงขอเจาะลึก 5 อาชีพดังกล่าวนี้ เพื่อเป็นแนวทางใหม่ของคนในยุค Gen C ให้ทราบถึงวิธีการทำงาน แนวทาง และวิธีเป็นหนึ่งในอาชีพออนไลน์เหล่านี้กันครับ

ธุรกิจออนไลน์ต่างกับอาชีพออนไลน์อย่างไร


ก่อนจะไปรู้จักกับ 5 อาชีพออนไลน์ดังกล่าว ขอให้ทราบกันก่อนว่า ในอาชีพออนไลน์ที่จะพูดถึงนี้ ถือเป็นงานสำหรับทำคนเดียว เนื่องจากผมมองว่า “ธุรกิจก็คือกิจการ” หมายความว่า ต้องมีผู้ร่วมเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ถึงจะเรียกว่าธุรกิจ ทั้งในโลกออนไลน์และไม่ออนไลน์ก็เช่นกัน อย่างเปิดเว็บขายของออนไลน์ หรือเปิดเว็บบริการรับจ้างต่าง ๆ พวกนี้ส่วนมากคือธุรกิจ เพราะถือเป็นงานที่ต้องมีคนช่วย ไม่งั้นลำบาก (อาจมีคนลุยเดี่ยวก็จริง แต่ค่อนข้างน้อย) หากเป็นอาชีพออนไลน์ จะหมายถึง “การขายความสามารถส่วนบุคคล” ที่เราสามารถทำรายได้เป็นของตัวเองได้ โดยลุยคนเดียว เหนื่อยคนเดียว ไม่มีใครอื่น แบบนี้ถึงจะเรียกว่าอาชีพออนไลน์ หรือจะเรียกว่า “ฟรีแลนซ์” ก็ไม่ผิดนัก

ทำเป็นงานหลักหรืองานเสริมดีสำหรับอาชีพออนไลน์


ถึงจะบอกข้างต้นไปว่าอาจต้องใช้เวลาเทียบเท่าทำงานจริง (บางทีอาจมากกว่าด้วย) แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราว่าจะเลือกให้เป็นอาชีพหลักหรือเสริม คืออาชีพออนไลน์เป็นเหมือนงานฟรีแลนซ์ชนิดหนึ่ง ที่มีอิสระเหมือน ๆ กันตรงที่สามารถกำหนดเวลาทำงานด้วยตัวเองได้ อย่างหากเราเลือกใช้เวลาทำน้อย ๆ เพื่อเป็นงานเสริม เราก็อาจจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าคนที่เลือกทำเป็นงานหลัก ที่เขาทุ่มเวลาให้นาน ๆ เรียกได้ว่า ถ้าใครไม่ฟลุกหรือเก่งจริง ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จเท่ากับคนที่ทำเป็นอาชีพหลัก ดังนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราแล้วครับว่าจะบริหารเวลายังไง และพัฒนาความสามารถตัวเองยังไง ให้เลือกได้ว่าเราเหมาะที่จะทำเป็นอาชีพเสริมหรือหลักกันแน่

อาชีพ 1 : นักเขียนยุคดิจิทัล Content Writer

ในยุคที่ข่าวสารในโลกอินเทอร์เน็ตเผยแพร่ไวยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง ณ ปัจจุบัน จึงก่อให้เกิดอีกหนึ่งอาชีพสายข่าวและอาชีพนักเขียนรวมกัน จนกลายเป็น Content Writer ผู้นำเสนอข้อมูลใหม่ ๆ ผ่านเว็บไซต์นั่นเอง สำหรับอาชีพนี้ผมขอบอกเลยว่าเป็นอาชีพที่ชิลที่สุดแล้ว เพราะเราสามารถนั่งทำงานโดยแบกโน้ตบุ๊กไปตากแอร์เย็น ๆ ที่ร้านกาแฟหรือที่สาธารณะตามห้างได้ ดีกว่านั้นก็นั่งทำที่บ้านไปเลย แต่มีข้อแม้เพียงอย่างเดียวว่า “เราต้องรักงานเขียน”

Content Writer คืออะไร 

Content Writer คือผู้นำเสนอเนื้อหาความรู้หรือผู้เขียนข่าวลงเว็บไซต์ในโลกออนไลน์ แต่ถ้าไปไล่ถามคนที่ทำอาชีพนี้จริง ๆ เราอาจได้รับคำตอบคนละอย่าง สาเหตุก็เพราะ “นักเขียน Content มีความเชี่ยวชาญต่างกัน” บางคนมีความรู้เรื่องแพทย์ ก็ชอบเขียนเรื่องแพทย์ บางคนชอบกฎหมายก็เขียนเรื่องกฎหมายได้ดี บางคนคลุกคลีกับวงการไอทีบ่อย ๆ ก็เขียนเรื่องไอทีได้ละเอียดกว่าคนทั่วไป ดังนั้นคำตอบที่ได้อาจเป็นไปตามลักษณะต่าง ๆ นี้เอง แต่สำหรับความหมายจริง ๆ แล้ว Content Writer คือผู้เรียบเรียงข้อมูลจากหลาย ๆ ที่รวมกัน แล้วนำมาเขียนใหม่ให้มีความน่าสนใจยิ่งขึ้นและอ่านง่ายขึ้นในเว็บไซต์ ตามความถนัดของผู้เขียนและกลุ่มผู้อ่านที่เป็นเป้าหมาย

อยากเป็นต้องทำยังไง และมีแนวทางอย่างไร 

อันดับแรกเลย ถามตัวเองก่อนว่า “ชอบงานเขียนไหม?” เพราะถ้ายิ่งชอบ ก็ยิ่งทำให้ Content ที่เขียนออกมามีความถูกต้องและคุณภาพสูงขึ้น ส่วนเรื่องความเชี่ยวชาญ เรามีความชอบอะไรก็ให้ตามหรืออ่านเรื่องนั้นบ่อย ๆ เดี๋ยวมันก็มาเองครับ ต่อไปจะเป็นกฎเหล็ก 5 ข้อที่ผู้เขียน Content ต้องมี ได้แก่

  • อ่านเยอะ ๆ เพื่อให้ Content ของเรามีความสดใหม่และมีเนื้อหาที่ถูกต้อง จึงควรหมั่นอัพเดตข้อมูลใหม่ ๆ อยู่เสมอ
  • ออกแบบเป็น เราไม่ใช่นักเขียนอย่างเดียว แต่เป็นนักออกแบบด้วย คือต้องรู้จักเรียบเรียงเนื้อหา รู้จักใช้ Font และรู้จักการใส่รูปประกอบเพื่อให้น่าอ่านมากขึ้น สุดท้ายคือ สามารถสรุปวิเคราะห์ข้อมูลในแบบของเราได้ ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้ Content ของเรามีความเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง จะได้มีคนจดจำได้ จากนั้นอะไรดี ๆ (รายได้) จะตามมาภายหลัง
  • ภาษาไทยต้องแน่น เป็นนักเขียนทั้งที หากพลาดภาษาไทยนี่คือจบไม่สวยแน่ แต่ถ้าได้ภาษาอังกฤษด้วยจะยิ่งดีขึ้น 3 เท่า
  • มีความรู้เรื่อง SEO เวลาเราสงสัยอะไร ให้ถามอากู๋ (Google) ดังนั้น ถ้าอยากให้ Content ของเราอยู่ในหน้าแรก ๆ ของ Google ที่มีเปอร์เซ็นต์คนคลิกอ่านสูง อย่าลืมไปศึกษาเรื่องนี้ด้วย
  • ไม่เขียนข้อมูลเท็จ จรรยาบรรณเดียวกันกับนักข่าวที่ดีครับ ถ้าเราเขียนข้อมูลเท็จและมีคนจับได้ อนาคตแทบดับวูบเลยนะเออ

สำหรับใครที่อยากเป็น Content Writer อันดับแรกให้เขียนบทความยาวสักเรื่องก่อน เพื่อทดสอบทักษะการเขียนของเรา จากนั้นลองหาที่เผยแพร่ออนไลน์เพื่อดู Feedback จากผู้อ่าน อาจจะเป็นเว็บ Blog ของตัวเอง ในเว็บบอร์ดที่สิงอยู่ ไม่ก็ไปเสนอให้เว็บไซต์ที่รับเผยแพร่ Content ตามแนวของเรา หรือใช้ Facebook ของเรานี้แหละโพสต์มันซะเลย

“ไม่ว่าคุณเขียน Content เอาไว้ในไหน หากคุณเขียนดี ยังไงก็มีคนอ่าน” แชมป์ ทีปกร วุฒิพิทยามงคล ผู้ร่วมก่อตั้ง The Matter

รายได้มาจากไหน

ตัวอย่างเว็บเผยแพร่ Content สังกัดใหญ่

นักเขียน Content บางคน อาจมีสังกัดแตกต่างกันด้วย อย่างพวกที่ทำเป็นอาชีพหลักจะมีบริษัทหรือหน่วยงานเป็นสังกัดใหญ่ ๆ จ้างวานให้เป็นนักเขียนประจำ พวกนี้จะได้เปรียบคือ มีเงินเดือนประจำให้โดยเฉพาะ ส่วนพวกที่ทำเป็นอาชีพเสริม ที่เขียนลงในเว็บไซต์หรือเว็บ Blog ส่วนตัว หากเขียนดีก็จะมี “Sponsor” (ผู้สนับสนุน) มาให้ค่าขนมด้วยการขอลงโฆษณาของทางเว็บไซต์หรือเว็บ Blog ของเรา หรือบางครั้งอาจได้รับการจ้างวานให้เขียน Content ลงสังกัดใหญ่เป็นครั้งคราว

ติดตาม : เจาะเทรน 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” ตอนที่ 2 ได้ที่นี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here