เจาะเทรนด์ 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” ตอนที่ 2

ต่อเนื่องกันกับเรื่อง เจาะเทรน 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” หลังแนะนำอาชีพแรกไปแล้ว คราวนี้มาดุูอีก 2 อาชีพอย่าง Blogger Review และ Tuter Online กันครับ

ย้อนดู : เจาะเทรน 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” ตอนที่ 1

อาชีพ 2 : เขียนสิ่งชอบ แชร์สิ่งที่ใช่ Blogger Review

เริ่มต้นมาจาก “การระบายอย่างละเอียด” ของคุณลูกค้า ถึงความรู้สึกดี ๆ หรือไม่ดีที่มีต่อ Product (สินค้าและบริการ) นั้น ๆ ซึ่งมักเห็นได้ตามเว็บบอร์ดหรือเว็บ Blogger ต่าง ๆ แต่ตอนหลังกลับกลายเป็น “สุดยอดการโปรโมต” ช่วยขายสินค้าให้แทน จนเกิดเป็นอีกหนึ่งอาชีพขึ้นมาคือ Blogger Review (จะเรียกว่าขั้นสองของ Content Writer ก็ได้)

Blogger Review คืออะไร 

แยกทีละส่วนก่อนนะครับ Blogger คือ ผู้ที่มีเว็บ Blog ที่เหมือนเป็น Website รูปแบบหนึ่ง มีการจัดเรียง “เรื่องที่เขียน” เป็นหัวข้อชัดเจน โดยจะเรียงลำดับตามเวลาที่เขียน จึงทำให้เหมือนเป็นหน้าเว็บเว็บหนึ่งกันเลย แต่เว็บ Blog กลับมีความแตกต่างอย่างมหาศาลคือ “ไม่ต้องเสียค่าเช่า Hosting” จึงทำให้เกิด Blogger ขึ้นมามากมายนี้เอง ในหลัง ๆ เรื่องที่เขียนเริ่มมีการ Review (รีวิว) เข้ามาด้วย เรียกได้ว่าเป็นบทความประเภทหนึ่ง แต่มีข้อแตกต่างคือ เป็นการแนะนำสินค้าจากปากลูกค้าด้วยกันเอง ทำให้ผู้อ่านเข้าใจคุณสมบัติของสินค้าชิ้นนี้ได้อย่างละเอียดยิ่งกว่าดูโฆษณาของทางผู้ผลิตเองเสียอีก และได้เห็นชัดเจนเลยว่าสินค้านี้ดีหรือไม่ดีจริง จึงช่วยให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น (ผู้ผลิตเลยชอบไงครับ) จุดนี้เองจึงทำให้เกิดอาชีพ Blogger Review ขึ้นมา และกลายเป็นกระแสรีวิวสินค้ามาจนทุกวันนี้

อยากเป็นต้องทำยังไง และมีแนวทางอย่างไร

goohiw.com (กูหิว) เว็บบล็อกรีวิวอาหารชื่อดัง

อย่างแรก ไปสมัครเว็บ Blog ก่อนเลยครับ โดยจะใช้ของ WordPress ของฟรีแต่ประสิทธิภาพสูง หรือ Blogspot ของ Google ที่ใช้งานง่ายมาก ๆ ไม่ก็สร้างเว็บเช่าเซิร์ฟเวอร์เองซะเลย ก็แล้วแต่ความชอบเลยครับ (หากยังไม่อยากเป็นสาย Blogger ก็ไปโพสต์รีวิวตามเว็บบอร์ดก่อนก็ได้) หรือถ้าไม่ถนัดเขียน ก็ทำเป็นวิดีโอรีวิวผ่าน Youtube ก็ได้ ถัดมาคือ เลือกสายรีวิวครับ ซึ่งก็มีแยกย่อยอีกไม่รู้จบเลยทีเดียว แต่ในที่นี้จะขอแบ่งเป็น 5 สายหลัก (อาจมีมากกว่านี้) ที่เห็นกันบ่อย ๆ คือ

  • สายไอที : รีวิวพวกอุปกรณ์ไอที อาทิ สมาร์ตโฟน โน้ตบุ๊ก กล้อง ฯลฯ หรือพวกฮาร์ดแวร์ ไม่ก็ซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในการรีวิวสายนี้จะต้องเน้นความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษครับ คือเราต้องมีความรู้เรื่องไอทีในระดับหนึ่งเลย เนื่องจากของพวกนี้มีรายละเอียดสูงมาก หากรีวิวแบบไม่รู้เรื่องไอทีเลยก็อาจมีแววโดนคนรุมติเตียนได้ครับ
  • สายกิน : สายนี้เน้นความรู้สึกล้วน ๆ ครับ แต่ถ้าให้ดี ควรเขียนรายละเอียดของรสชาติ รวมถึงรายละเอียดของที่กินด้วย เพื่อให้การรีวิวมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น (เนื่องจากความชอบในรสชาติอาจไม่เหมือนกัน)
  • สายท่องเที่ยว : สำหรับสายนี้ สิ่งที่ควรเน้นเป็นอย่างยิ่งเลยคือ “การให้เกียรติสถานที่” เชื่อว่าทุกคนย่อมรู้แก่ใจอยู่แล้ว นอกนั้นก็ใช้ความรู้สึกล้วน ๆ เหมือนสายกินครับ
  • สายยานพาหนะ : สายนี้เหมือนกับสายไอที คือต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือจักรยานเป็นพิเศษเหมือน ๆ กัน
  • สายแฟชั่น : เนื้อหาของสายนี้ค่อนข้างกว้าง ครอบคลุมทั้งเทรนด์แฟชั่นไปจนถึงเรื่องความงาม และโดยส่วนมากจะมีเนื้อหาสำหรับผู้หญิง ผู้เขียนก็มักจะเป็นผู้หญิงด้วยเช่นกัน อาทิ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมความงาม

สุดท้าย ไม่ว่าจะรีวิวของชนิดใดหรือสายไหนก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอคือ “ความจริงใจ” การรีวิวต้องเป็นไปตามจริง ไม่มีเรื่องส่วนตัวมาแทรก หรือใช้อคติในการรีวิว เพราะจะทำให้คนอื่นเลิกอ่านรีวิวของเราไปโดยปริยาย เนื่องจากหมดความเชื่อถือนั่นเอง ส่วนวิธีการเขียนรีวิว นอกจากมีความจริงใจแล้ว ความถูกต้องก็สำคัญด้วย รวมถึง “ความเป็นเอกลักษณ์” ส่วนใครที่อยากหารายได้จากการเป็น Blogger Review ในช่วงแรก ๆ ลองรีวิวของที่ซื้อมาเองหรือใช้บริการเองก่อน เขียนไปเรื่อย ๆ และเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีคนจดจำได้ ต่อไปก็จะมีผู้ผลิตมาจ้างให้เราเขียนรีวิวในที่สุดเองครับ

รายได้มาจากไหน

Sponsor เลยครับ ถ้าใครมีเว็บ Blog หรือเว็บไซต์เป็นของตัวเองแล้วเขียนรีวิวดี มีบทความรีวิวดี ๆ เยอะ ก็เตรียมรับตังค์ได้เลย คือจะมีผู้สนับสนุนส่ง E-mail หรือโทรหาเราโดยตรงเอง (ในเว็บ Blog ของเราควรมีข้อมูลติดต่อไว้เพื่อการนี้) จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาเรื่องลงโฆษณา หรือค่าจ้างของแต่ล่ะกรณีกันไปครับ อย่างไรก็ตาม ในวงการรีวิวของประเทศเรา อาจจะยังไม่หวือหวาเท่าไรนัก เมื่อเทียบกับต่างประเทศที่เขามีการสนับสนุนเป็นเรื่องเป็นราวมากกว่า มีผลตอบแทนให้เป็นหลักแสนจนถึงหลักล้าน ส่วนบ้านเรา… ก็ถือว่ายังมีอยู่ครับ ยังไม่น้อยจนน่าเกลียด สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับความขยันในการเขียนรีวิวของเรา และฝืมือในการเขียน Content Review อยู่ดีครับ


เจ้าหนู Even วัย 9 ขวบ สามารถทำรายได้จากการรีวิวของเล่นใน Youtube ได้ถึง 40 ล้านบาทต่อปี !!

อาชีพ 3 : ติวเตอร์ออนไลน์ คุณครูยุคใหม่ถ่ายคลิปสอนแลกค่าเรียน

หากบอกว่าเป็นอาชีพครูหรือ Tutor แน่นอนว่าใคร ๆ ต้องรู้จัก แต่ถ้าบอกว่า “การสอนผ่านเน็ต” หลายคนคงนึกถึงเว็บวิดีโอออนไลน์อย่าง Youtube ที่มีครูหรือผู้เชี่ยวชาญใจดีหลายคนมาอัดคลิปแบ่งวิชากันในนี้ฟรี ๆ เลย แต่ขึ้นชื่อว่าฟรี การสอนจึงอาจยังไม่เจาะลึกเท่าที่ควรนัก เหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของ “เว็บขายคอร์สเรียนออนไลน์” ที่รวบรวมคลิปการสอนคุณภาพสูงจากทั่วโลกด้วยการเปิดช่องทางสำหรับจ่ายค่าเล่าเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตโดยเฉพาะ จนเกิดเป็นธุรกิจการสอนออนไลน์ หรืออาชีพใหม่ว่า “Tutor Online” นั่นเอง

ภาพจาก www.udemy.com

Tutor Online คืออะไร 

ตอบแบบกำปั้นทุบดินเลยคือ “การอัดคลิปสอนผ่านเน็ต” นั่นแหละครับ แต่ถ้าความหมายจริง ๆ แล้วคืออาชีพทำคอร์สออนไลน์ขายผ่านเว็บไซต์ (เปลี่ยนทักษะให้เป็นเงิน) โดยผู้สอนจะต้องอัดคลิปการสอนของตัวเองชนิดเต็มรูปแบบ ซึ่งอาจต้องใช้ทักษะตัดต่อวิดีโอพอสมควร และเทคนิคการสอนระดับมือชีพกันเลย เนื่องจากเราไม่ได้ทำฟรีอีกต่อไป นอกจากจะอัดคลิปแล้ว เรายังต้องทำ Sheet หรือแบบทดสอบประกอบการสอนอีกด้วย เรียกได้ว่า เราคืออาจารย์ดี ๆ นี่เอง แต่นักเรียนที่มาเรียนกับเรานั้นคือคนจากทุกอาชีพ หลากหลายวัย และมาจากทั่วประเทศหรือทั่วโลก

แล้วเว็บขายคอร์สเรียนออนไลน์คืออะไร ?

ตอบแบบกำปั้นทุบดินรอบสอง “สถาบันออนไลน์” เป็นสถาบันในรูปแบบเว็บไซต์ที่เรียนกันผ่านวิดีโอ แต่เราไม่ใช่แค่ดูอย่างเดียว ต้องมีการทำความเข้าใจ ทบทวน ทำแบบฝึกหัด และมีค่าเล่าเรียนด้วย เหมือนไปเรียนเลยครับ ในเว็บก็จะมีช่องทางให้ผู้สอน ได้ลงคลิปการสอนของตัวเอง ลงแบบฝึกหัดประกอบ และการรับค่าเล่าเรียน ส่วนผู้เรียน ตัวเว็บก็จะอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้ เช่น เปิดช่องทางชำระค่าเล่าเรียนเป็นรายวิชา แบ่งคอร์สเรียนให้เลือกเป็นหมวด ๆ หรือบางเว็บมีการมอบใบรับรองหลังเรียนจบให้ด้วย เช่น Udemy เป็นต้น

อยากเป็นต้องทำยังไง และมีแนวทางอย่างไร

มีความเชี่ยวชาญเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน ที่มากพอจะสอนคนอื่นได้ โดยจะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ เช่น สอนภาษา สอนเขียนโปรแกรม สอนการใช้โปรแกรม สอนงานฝืมือ ฯลฯ

เลือกเว็บคอร์สเรียนออนไลน์ที่ต้องการ โดยปัจจุบันในบ้านเราเองก็มีเว็บแบบนี้เป็นภาษาไทยให้เห็นบ้างแล้ว หลัก ๆ เลยก็มี coursesquare.co และ taladpanya.com ในเว็บก็จะมี Tutor Online คนไทยไปฝากขายคลิปสอนออนไลน์มากมายเหมือนกัน แต่ใครเก่งภาษาอังกฤษด้วย แนะนำว่าให้อัดคลิปการสอนเวอร์ชันภาษาอังกฤษ และไปฝากขายที่เว็บ udemy.com หรือ skilllane.com เลยครับ สองเว็บนี้ถือเป็นเว็บคอร์สเรียนออนไลน์ระดับโลกที่มีชื่อมากที่สุดแล้วในวงการนี้ (ป.ล .เว็บ Udemy อาจไม่ฮิตเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เนื่องจากมีการเปลี่ยนกติกาเว็บใหม่ที่ไม่ค่อยดีนัก)

เว็บ Udemy.com

เว็บ Taladpanya.com

อัดคลิปการสอน สิ่งที่ต้องเตรียมเลยก็มี 1.คอมพิวเตอร์ (มีโปรแกรมตัดต่อพร้อม) 2.กล้องวิดีโอ 3.ไมโครโฟน และ 4.ห้องอัด ง่าย ๆ คือเราต้องมีห้อง Studio ขนาดย่อมนั่นแหละครับ ในส่วนนี้ใครที่มีคนช่วยหรือมีทีมงานก็สบายไป แต่ถ้าใครลุยเดี่ยว ก็เตรียมเหนื่อยได้เลย ตั้งแต่ตั้งกล้อง เซตฉาก ลองแสง หรือแม้กระทั้งแต่งหน้าเข้าฉาก ทั้งหมดนี้ต้องลุยเอง ทว่า ก็มีบางคนไม่ถนัดด้านนี้จริง ๆ จึงเลือกที่จะทำภาพกราฟิกหรือแอนิเมชันประกอบการสอนแทน แต่ก็จะเหนื่อยไปอีกแบบครับ

ตัวอย่างการทำ Animetion ประกอบการสอน

ออกแบบบทเรียน หากมีความต้องการมาสอนแล้ว ย่อมไม่ลืมจุดนี้แน่ ๆ นั่นคือการออกแบบบทเรียน ในช่วงที่อัดคลิปสอนอยู่นั้น ต้องมีการวางแผนก่อนว่าจะแบ่งคลิปเป็นกี่พาร์ต หรือจะกำหนดไว้กี่บท จะตั้งชื่อบทว่าอะไร จะกำหนดความยากง่ายหรือเนื้อหาแบบไหน มาถึงจุดนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝืมือของผู้สอนแล้วครับ ว่าจะให้บทเรียนของตัวเองออกมาในรูปแบบไหน ให้คนเข้าใจได้ทุกคน

รายได้มาจากไหน

ในส่วนของรายได้ แน่นอนว่ามาจากผู้เรียนที่กดปุ่มจ่ายตังค์เพื่อขอเข้าคอร์สออนไลน์ของเรา ในเว็บคอร์สเรียนออนไลน์แต่ละเว็บก็จะมีรูปแบบการชำระค่าเล่าเรียนแตกต่างกันไป แต่มีหลักการเดียวกันคือ ใช้บัญชีออนไลน์ (Internet Banking) ซึ่งก็จะมีทั้งบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต หากเป็นทั่วโลก เช่น Udemy ก็มักจะใช้ PayPal เป็นต้น สำหรับราคาก็ขึ้นอยู่กับผู้สอนเลยครับว่า จะตั้งราคาค่าเรียนไว้เท่าไหร่ให้เหมาะสม ส่วนมากก็จะมีตั้งแต่หลักร้อยถึงพันบาท

ทั้งนี้มีสถิติที่น่าสนใจว่า เว็บไซต์ Udemy มีการเปิดเผยว่า 10 อันดับแรกของคอร์สออนไลน์ที่ทำรายได้สูงสุด ตลอดระยะเวลา 12 เดือน สามารถทำรายได้สูงถึง 1.6 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 49.6 ล้านบาทเลยทีเดียว หากใครอยากให้ถึงระดับนี้ แนะนำเลยว่า “ทำคอร์สเรียนเวอร์ชันภาษาอังกฤษ” และทำเนื้อหาให้น่าสนใจไม่แพ้คนอื่น ๆ ในต่างประเทศครับ

ติดตาม : เจาะเทรน 5 อาชีพใหม่ในโลกออนไลน์ “ลุยเองได้” ตอนที่ 3 ได้ที่นี้

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here