มาตรฐาน 1024-QAM บนสมาร์ทโฟนคืออะไร มันเอาไว้ใช้ทำอะไรกันแน่

สิ่งที่ชูจุดเด่นเรื่องประสิทธิภาพเครือข่าย ก็มี 4G LTE และ Wi-Fi บนมาตรฐาน ac เป็นที่สิ่งที่เราได้ยินกันจนคุ้นเคย แต่คำว่า 1024-QAM มันคืออะไร มาดูคำตอบกันครับ

ในส่วนสเปกของการเชื่อมต่อเครือข่าย ส่วนมากจะพูดกันถึงแต่มาตรฐาน n หรือ ac และจำนวนเสาสัญญาณอะไรทำนองนี้มากกว่า แต่ 1024-QAM คืออะไร ทำไมถึงมีในสมาร์ทโฟนบางรุ่น (เช่น Galaxy S8 และ S8+) เป็นคำถามที่หลาย ๆ คาใจ

สำหรับ 1024-QAM มันคือมาตรฐานขั้นใหม่ในการส่งข้อมูลบนระบบ Wi-Fi ครับ โดยเราไม่ค่อยได้พูดถึงสักเท่าไหร่ แต่มันมีความสำคัญมากและส่งผลกระทบต่อความเร็วในการเชื่อมต่อโดยตรง นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่เป็นมาตรฐาน ac เหมือนกัน แต่ได้ความเร็วไม่เท่ากันในแต่ละเครื่อง

QAM นั้นย่อมาจาก Quadrature amplitude modulation ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องจำครับว่ามันคืออะไร และทำงานอย่างไร เพราะมันเป็นสูตรทางคณิตศาสตร์ที่ปล่อยให้ผู้ผลิตอุปกรณ์เค้าไปจัดการเองเถอะ เรารู้แค่ว่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดี

ถ้าดูจากตาราง เราจะเห็นว่ามาตรฐาน Wi-Fi ac ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้จะรองรับการส่งข้อมูลแบบ 256-QAM เท่านั้น และถ้าดูให้ดี คุณจะสังเกตได้ว่าความเร็วสูงสุดที่ผู้ผลิตบอกมาว่าเร็วกว่ามาตรฐาน n ถึง 4-5 เท่านั้นจำเป็นจะต้องมีเงื่อนไขเยอะแยะเต็มไปหมด เช่น ต้องตั้ง Bandwidth ไว้ถึง 80MHz (ซึ่งส่วนใหญ่เราตั้งแบบ Auto และมักจะเชื่อมต่อกันที่ 20MHz เท่านั้น) หรือต้องมีการเชื่อมต่อเสาสัญญาณหลายเสาแบบ MIMO ซึ่งกว่าจะได้ความเร็วแบบ AC5300 ที่โฆษณาว่ามีความเร็วถึง 5.3Gbps นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในอุปกรณ์พวกมือถือ

ย้อนกลับมาที่ 1024-QAM เนื่องจากเราเตอร์ในปัจจุบันอยู่บนมาตรฐาน ac ที่รองรับการส่งข้อมูลบนมาตรฐาน 256-QAM เท่านั้น ความเร็วในการทำงาน จึงได้ตามมีตามเกิดบนมาตรฐาน ac เหมือนอุปกรณ์ทั่วไปเท่านั้น
แล้ว 1024-QAM เอาไว้ทำอะไรดีล่ะ ? มาตรฐานนี้ไม่ได้อยู่ใน Wi-Fi ac ครับ แต่จะไปอยู่ใน Wi-Fi ax ซึ่งเป็นมาตรฐานใหม่ที่กำลังจะออกมาในอนาคต แต่อย่างที่เห็นแหละครับ ผู้ผลิตอุปกรณ์บางรุ่นก็เริ่มมีข้ามมาตรฐานออกมาแล้ว

ถ้ามองย้อนกลับไปยุคที่เปลี่ยนจาก g มาเป็น n ก็เห็นเทคโนโลยี MIMO ถูกใส่ไว้ในอุปกรณ์หลาย ๆ รุ่นของ g เช่นกัน ทั้ง ๆ ที่เป็นมาตรฐานใน n ดังนั้นมาก่อนไม่เป็นไร แต่ให้รู้ไว้ว่ามันจะไม่ได้เร็วขึ้นเลยจนกว่าจะเจอกับเราเตอร์ที่รองรับการทำงานเดียวกัน

ตอนนี้ในท้องตลาดเริ่มมีเราเตอร์บางรุ่นข้ามไปรองรับแล้วเหมือนกัน อย่างเช่น Linksys EA9300 ที่เป็น 3 เสา แบบ AC4000 ซึ่งยังไม่เข้ามาขายในประเทศไทย และถ้าคุณเห็นเราเตอร์ที่มีค่า ACxxxx แปลก ๆ ก็อาจจะต้องเข้าไปดูรายละเอียดความเร็วดู เพราะไม่แน่ว่าบางรุ่นอาจจะรองรับ 1024-QAM แล้วก็ได้

 

จากคอลัมณ์ Network ประจำ Comtoday ฉบับที่ 548 เขียนโดย Admee