มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่ ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์นาโน ผักออร์แกนิกส์

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราช มงคล (มทร.) ธัญบุรี นำเชื้อจุลินทรีย์นาโน ลงพื้นที่บริการวิชาการตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพผักออร์แกนิกส์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุกาญจน์ รัตนเลิศนุสรณ์ สาขาวิชาชีววิทยา นักวิจัยและอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เล่าว่า ด้วยต้นทุนในการปลูกผักสลัดที่ปลูกแบบไร้ดิน มีต้นทุนในการผลิตสูงประมาณ 4,700 บาทต่อครั้ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการปลูกผักสลัด จึงได้คิดค้นงานวิจัยจุลินทรีย์นาโนขึ้นมา โดยการนำจุลินทรีย์ปฏิปักษ์ที่คัดแยกได้จากธรรมชาติ 5 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลาย กลุ่มจุลินทรีย์ชักนำการเติบโต กลุ่มจุลินทรีย์เร่งการย่อยสลายฟอสฟอรัสโพแทสเซียม กลุ่มจุลินทรีย์ควบคุมโรค และกลุ่มจุลินทรีย์ปรับปรุงดิน นำมาผลิตในระดับอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีชีวิภาพเทคโนโลยีคีเลต เทคโนโลยีเอ็นแค็ปซูล ทำให้ได้นวัตกรรมหัวจุลินทรีย์นาโน ภายใต้เครื่องหมายการค้า THAN ที่ได้รับมาตรฐานไอเอฟโอเอเอ็ม (IFOAM : International Federation of Organic Agriculture Movements)

จากการทดลองโดยการนำเชื้อจุลินทรีย์นาโนที่ได้มาใช้ร่วมกับสารอาหารหลักรองและเสริมอินทรีย์ กับผัดสลัด เช่น กรีนโอ๊ค เรคโอ๊ค ครอส ฟิโน่เร่ แบบที่ไร้ดินและใช้ดิน ปรากฏว่าประสิทธิภาพผลการเติบโตของรากและผลผลิตต่อต้น ดีกว่าการใช้จุลินทรีย์ปฏิปักษ์ร่วมกับการใช้สารอาหารหลักและรองจากสารละลายเคมี A และสารละลายเคมี B สูงถึง 2 เท่า ซึ่งใช้ต้นทุนการปลูกต่อครั้งเพียง 1.200 บาท นอกจากนี้ผักยังมีกรอบ ปริมาณวิตามินและเกลือแร่สูงกว่าปกติ และยืดระยะเวลาการเก็บรักษาได้นานกว่าปกติ

จึงได้นำความรู้มาถ่ายทอดบริการวิชาการสู่ชุมชนสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีระหว่าง 2561-2564 เพื่อพัฒนาชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ต้นน้ำ โดยนำมาถ่ายทอดที่ ตำบลบึงบา อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี โดยเริ่มจากต้นน้ำ คือ การถ่ายทอดเทคนิคการปลูกผักสลัดร่วมกับหัวเชื้อจุลินทรีย์นาโนร่วมกับสารอาหารหลักรองและเสริมอินทรีย์ THAN เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตและที่สำคัญผักสลัดที่ผลิตได้มาตรฐานออร์แกนิคและมาตรฐานอาหารปลอดภัย สำหรับจำหน่ายแก่ผู้บริโภคที่ดูและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงปราศจากโรค

และต่อยอดถ่ายทอดกลางน้ำ เทคนิคการแปรรูป และปลายน้ำ เทคนิคการบริหารจัดการด้านการตลาด ร่วมกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีแบบเกษตรกรแม่นย่ำ(smart farmer) ตรวจติดตามผลการดำเนินการต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง 5 ปี เพื่อทำให้กลุ่มเกษตร ศพก.ย่อย หนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ได้แนวปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP : Good Agriculture Practices) เพิ่มผลผลิต รายได้เพิ่มขึ้น ลดต้นทุนอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง