รีวิว Samsung Galaxy S8+ ขยายขอบเขตงานดีไซน์ สู่การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคต

1 สัปดาห์กับการมี Samsung Galaxy S8+ อยู่ในมือ ยอมรับเลยว่าเป็นสมาร์ทโฟนที่ออกแบบได้อย่างสวยงาม ดูมีความทันสมัย จากเปลือกนอกที่น่าจะสะกดสายตาคนทั่วไปได้ไม่ยาก แล้ว S8+ ยังมีอะไรที่ซ่อนอยู่และให้เราเรียนรู้อีกบ้าง

รีวิว Samsung Galaxy S8

สเปก Samsung Galaxy S8+

– ตัวเครื่องมีความบาง 8.1 มิลลิเมตร น้ำหนัก 173 กรัม

– การออกแบบหน้าจอแบบ Infinity displays มีขนาด 6.2 นิ้ว Super AMOLED ความละเอียด Quad HD+ (2960 x 1440 พิกเซล) 529ppi

– ระบบปฏิบัติการ Android 7.0 Nougat ครอบด้วย TouchWiz UI

– แรม 4GB, หน่วยความจำภายใน 64GB รองรับ microSD ความจุสูงสุด 256GB

– กล้องหลัง Dual Pixel ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล, ค่ารูรับแสง f/1.7 พร้อมระบบกันสั่น Smart OIS

– กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มาพร้อมระบบ Auto Focus และค่ารูรับแสง f/1.7

– ชิปประมวลผล Samsung Exynos 8895 สถาปัตยกรรมการออกแบบที่ 10 นาโนเมตร

– พอร์ตเชื่อมต่อ USB Type-C

– รองรับ Samsung Pay

– สนับสนุนการกันน้ำ กันฝุ่น ด้วยมาตรฐาน IP68

– รองรับฟีเจอร์ Always-on display

– ระบบความปลอดภัย : Samsung KNOX, สแกนลายนิ้วมือ, สแกนม่านตา (Iris Scanner), ระบบจดจำใบหน้า

– แบตเตอรี่ความจุ 3500 mAh รองรับเทคโนโลยีชาร์จเร็ว Fast Charging และชาร์จไร้สาย Wireless Charging

สิ่งที่เรียกว่า “Infinity displays” คือ การออกแบบจอแสดงผลที่กินพื้นที่บนตัวเครื่องมากกว่าปกติ ลดพื้นที่ขอบบนและขอบล่าง มีผลทำให้ปุ่มโฮมทรงวงรีที่อยู่คู่กับซัมซุงมานานต้องเสียสละถูกตัดทิ้งไป แต่ทางแก้ของซัมซุงนั่นง่ายมากเพียงขยับปุ่มโฮม ปุ่ม Back ปุ่ม Recent app ไปไว้ท้ายสุดของจอ คล้ายกับสมาร์ทโฟน Android หลายๆรุ่น แถมดีไซน์ของปุ่มยังปรับเปลี่ยนให้แตกต่างไปจากเดิม เป็นอีกหนึ่งจุดที่สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับ S8+

ดีไซน์ของ 3 ปุ่มที่เปลี่ยนไป

Infinity displays กับขนาดหน้าจอ 6.2 นิ้ว เป็นการสร้างประสบการณ์ของการแสดงผลที่ยาวขึ้น เปิดมุมมองของการมองเห็นให้กว้างขึ้นด้วยอัตรส่วน 18.5 : 9 ที่ซัมซุงกำหนดขึ้นใหม่

การรายงานสภาพอากาศบนจอขนาด 6.2 นิ้ว Infinity displays ดูสวยงามมาก
จอ 6.2 นิ้ว Infinity displays ยังช่วยเรื่องการใช้งานแบบสองหน้าจอได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อเห็นตัวเลขขนาดหน้าจอไม่ได้แปลว่าตัวเครื่องจะต้องใหญ่ตามไปด้วย แต่จะออกไปในทางเพรียวบางซะมากกว่า หรือหากพูดเป็นภาษาบ้านๆ เปรียบเทียบเป็นคน S8+ มีรูปพรรณสัณฐาน “ผอม-สูง” เมื่อนำไปเปรียเทียบกับ Galaxy Note รุ่นอื่นๆ (ไม่นับ Note 7) หรือ iPhone 6 Plus, iPhone 6s Plus และ iPhone 7 Plus จะพบว่าขนาด 6.2 นิ้วของ S8+ ไม่ได้ใหญ่กว่ารุ่นพวกนี้เลย นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้การหยิบถือด้วยมือเดียวสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าการทัชบนหน้าจอด้วยมือเดียวไม่ได้เป็นเรื่องที่สะดวกนัก

เปรียบเทียบ 3 รุ่น S8+, iPhone 7 Plus และ Huawei P10

อีกหนึ่งจุดที่เพิ่มขึ้นมาบริเวณภายนอกของ S8+ เป็นปุ่มเล็กๆ ที่อยู่ถัดจากปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง เรียกว่า “Bixby” ฟีเจอร์เลขาผู้ช่วยฉลาดๆ สั่งงานด้วยเสียง ที่เปิดให้ทดสอบเมื่อครั้งเปิดตัวที่ต่างประเทศไปแล้ว แต่สำหรับที่รุ่นวางขายจริงกระทั่งในไทยเองคงต้องรออีกสักระยะหนึ่งกว่าที่ซัมซุงจะเปิดให้ใช้ Bixby ได้ ดังนั้นเมื่อกดปุ่มดังกล่าวจึงทำได้แค่ดูเวลา รายงานข่าวและสภาพอากาศ เท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้ปุ่มเรียก Bixby ไร้ประโยชน์ ในช่วงเวลาที่รอใช้ได้จริงอย่างเป็นทางการเราสามารถปรับให้มันเป็นปุ่มเรียกใช้แอพพลิเคชั่นได้ ส่วนจะมีวิธีการอย่างไรสามารถเข้าไปอ่าน How to ได้จากลิงค์นี้เลยครับ >>> “เมื่อ Bixby ใน S8 / S8+ ยังใช้ไม่ได้ เปลี่ยนให้เป็นปุ่มลัดเรียกแอพได้ง่ายๆ ด้วยวิธีนี้…” <<<

ด้านซ้ายของ S8+ ประกอบไปด้วยปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง และปุ่ม Bixby

อีกหนึ่งจุดที่มีการขยับตำแหน่งและแยกตัวออกมาเป็นฟีเจอร์สแกนลายนิ้วมือ เดิมทีจะฝังอยู่ใต้ปุ่มโฮม แต่ด้วยรูปแบบของปุ่มโฮมที่เปลี่ยนไปทำให้ซัมซุงตัดสินใจนำสแกนลายนิ้วมือแยกออกมาเป็นปุ่มสำหรับการสแกนโดยเฉพาะ เป็นปุ่มที่อยู่ด้านหลังของตัวเครื่องถัดไปทางขวาของกล้องหลัง รองรับการสแกนได้สูงสุด 4 นิ้ว จากที่ทดสอบพบว่าเมื่อถือ S8+ นิ้วที่สแกนได้สะดวกที่สุด คือ “นิ้วชี้” ส่วนของความแม่นยำในการสแกนนิ้วถือว่ามีสูง แต่หากนิ้วเปียกน้ำก็คงต้องเช็ดให้แห้งกันก่อนสแกนนะ

ตำแหน่งอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงเป็นพอร์ต USB รอบนี้ซัมซุงหันมาใช้ USB Type-C แทนของเดิม ส่วนตำแหน่งปุ่มพาวเวอร์ (เปิด-ปิดเครื่อง) ถูกติดตั้งอยู่ริมด้านขวา, ลำโพง กับ headphone jack 3.5 มิลลิเมตร อยู่ขนาบข้างพอร์ต USB, ถาดซิมอยู่ขอบด้านบน เป็นประเภทไฮบริด จะใช้ซิมเดียวพร้อม microSD ก็ได้ หรือจะใช้แบบสองซิมเลยก็ได้เช่นกัน, ด้านหลังนอกจากกล้อง, แฟลช และสแกนลายนิ้วมือ ยังมี Heart Rate Sensor แผงวัดอัตราการเต้นของหัวใจมาให้ด้วย

ตำแหน่งพอร์ตและปุ่มอื่นๆ 

เรื่องของขอบจอที่มีความโค้งยังคงสไตล์เดิมกับ S7 Edge เรียกแท็บเมนูลัดได้จากด้านข้างเช่นเคย นอกจากนี้ฝาหลังกระจกก็ยังมีขอบโค้งเช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าเป็นดีไซน์ที่ถอดแบบมาจาก Note 7 เลยก็ว่าได้

เมื่อจอ Super AMOLED อยู่ในที่กลางแจ้งก็ยังเห็นหน้าจอได้ในระดับหนึ่ง

User Interface ใหม่

UI ในหน้าโฮมกับหน้ารวมแอพ

การเปลี่ยนแปลงของ S8+ ไม่ใช่แค่ดีไซน์ แต่สำหรับ User Interface (UI) ยังให้ผู้ใช้ได้เปิดรับกับประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเข้าถึงแอพต่างๆ ที่ง่ายและรวดเร็วขึ้น ปกติแล้วใครที่เคยสัมผัสกับสมาร์ทโฟนซัมซุงจะพอรู้ดีว่าหากต้องการเข้าถึงแอพจะต้องเข้าไปยังหน้ารวมแอพ (App Drawer) ซึ่งกว่าจะค้นหาแอพที่ต้องการก็อาจทำให้เสียเวลาไม่มากก็น้อย แต่สำหรับ S8+ หรือแม้กระทั่ง S8 เอง ได้มีการปรับเปลี่ยนการเข้าถึงแอพต่างๆ ได้ง่ายขึ้นเพียง “การทัชขึ้นหรือลง” เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้เรียกหน้ารวมแอพขึ้นมาแสดงได้เร็วขึ้น พร้อมกันนี้ยังสามารถดึงแอพจากหน้ารวมแอพให้มาโชว์บนหน้าโฮมได้ รวมไปถึงในกรณีติดตั้งแอพใหม่ๆ ก็จะแสดงบนหน้าโฮมด้วยเช่นกัน เสมือนเป็นทางลัดที่ทำให้การเข้าถึงแอพเร็วขึ้น หรือหากรู้สึกว่าในหน้าโฮมจะมีแอพรกเกินไปแล้วก็สามารถลบออกได้เช่นกัน

การเรียกเมนูลัดจากด้านขวาของจอโค้งยังทำได้เช่นเดียวกับ S7 Edge

ทีนี้ในการลบแอพหลายคนคงรู้แล้วล่ะว่าให้กดที่แอพค้างไว้แล้วเลือกที่ถอดการติตตั้ง แต่สำหรับ UI ใหม่ของ S8 / S8+ เมื่อกดค้างที่แอพจะเห็นแท็บเมนูโผล่ขึ้นมา ให้เราเลือกได้ว่าจะทำอย่างไรกับแอพนั้นๆ

กดค้างที่แอพจะมีเมนูปรากฏขึ้นมา

ใน UI ของแอพการตั้งค่ามีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เมนูต่างๆ จะถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ จำกัดการแสดงเมนูเท่าที่จำเป็น แต่หากเข้าไปยังเมนูแต่ละประเภท ส่วนท้ายสุดจะมีแท็บเมนูเพิ่มเติมปรากฏอยู่ เพื่อสอบถามผู้ใช้ว่าต้องการเข้าถึงเมนูที่เกี่ยวข้องอื่นๆ หรือไม่ ทั้งนี้เข้าใจได้ว่าการปรับเปลี่ยนรูปแบบในเมนูการตั้งค่าน่าจะเป็นเพราะความต้องการลดเมนูที่ไม่จำเป็น ไมให้การแสดงผลเยอะและรกเกินไป

แท็บ Notification และหน้าเมนูการตั้งค่า

การรักษาความปลอดภัย

เรื่องของความปลอดภัยเ็นสิ่งที่ซัมซุงให้ความสำคัญมาโดยตลอด การคิดค้นระบบ Samsung KNOX เพื่อช่วยให้การใช้งานได้อย่างไร้กังวล หนึ่งในตัวเลือกสำหรับการ “ซ่อนไฟล์” ที่เป็นความลับ หรือศัพท์ของซัมซุงเรียกว่า “Secure folder” เราสามารถเลือกโฟลเดอร์เก็บภาพหรือแอพที่ไม่ต้องการให้คนอื่นล่วงรู้ มาเก็บไว้ใน Secure folder ได้ พร้อมใช้ระบบการใส่รหัสทั่วไป, สแกนลายนิ้ว หรือสแกนม่านตาได้ ทำให้โฟลเดอร์ดังกล่าวจะมีเพียงเราเท่านั้นที่เปิดใช้งานได้เมื่อต้องการ

ในเรื่องการปลดล็อคตัวเครื่องก็เช่นกัน การใส่รหัสด้วย PIN, ลากจุดต่อจุด รวมไปถึงสแกนลายนิ้วมือเห็นทีจะเป็นเรื่องที่ซัมซุงมองว่ามันเก่าไปแล้ว ดังนั้นใน S8+ จึงเพิ่มตัวเลือกอย่าง “การจดจำใบหน้า” และ “สแกนม่านตา” ขึ้นมา

ระบบการจดจำใบหน้าของ S8+ ตามความรู้สึกของการใช้งานยังพบว่ายังไม่ค่อยแม่นยำเท่าที่ควร บางครั้งสแกนและปลดล็อคได้ในทันที มีความรวดเร็ว เพียงยก S8+ ขึ้นมาตรงหน้า แต่บางครั้งกลับสแกนไม่ติดเอาดื้อๆ ยังดีที่มีการใส่รหัส PIN เป็นตัวช่วยปลดล็อคสำรอง

ระบบการจดจำใบหน้า

ส่วนสแกนม่านตา (Iris Scanner) เป็นฟีเจอร์ที่เปิดตัวไปตั้งแต่ Note 7 จากการใช้งานถือว่าเซนเซอร์สามารถตรวจจับนัยตาได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ปลดล็อคได้ง่าย แต่ข้อจำกัดของการใช้สแกนม่านตาจำเป็นต้องอยู่สถานที่ที่มีสภาพแสงเพียงพอ

สแกนม่านตา (Iris Scanner)

ความบันเทิงเต็มตามากขึ้น

ทำไมถึงบอกว่าความบันเทิงเต็มตามากขึ้น นั่นเป็นเพราะ Infinity displays กับอัตรส่วน 18.5 : 9 มีผลทำให้การรับชมรายการ, ภาพยนตร์ และเล่มเกมเต็มพื้นที่ของหน้าจอ ให้มุมมองที่กว้างขึ้น ให้ความรู้สึกเสมือนย่อจอของโรงภาพยนตร์มาไว้บนสมาร์ทโฟน

ไอคอนสำหรับขยายการแสดงผลบนแอพ YouTube

ภาพแบบเต็มหน้าจอ ที่ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นสมาร์ทโฟนไร้ขอบ

แม้จะทำให้เราตื่นตาตื่นใจไปกับมุมมองที่กว้างขึ้น แต่การแสดงผลให้เต็มพื้นที่ก็ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากแอพที่รองรับอัตราส่วน 18.5 : 9 ยังมีอยู่จำกัด ที่ใช้งานได้แน่นอนเลย คือ YouTube และแอพเกม ซึ่งการขยายการแสดงผลให้เต็มพื้นที่นั้นในแอพอย่าง YouTube เมื่อเปิดรายการใดรายหนึ่งขึ้นมา ทันทีที่หมุมจอให้เป็นแนวนอนจะมีไอคอนลูกศรแสดงขึ้นมา เมื่อเลือกที่ปุ่มดังกล่าวจะทำให้ภาพขยายได้เต็มพื้นที่ของจอ

ความบันเทิงแบบเต็มตาบนจอ Infinity displays

ส่วนการทดสอบด้วยแอพอื่นๆ อาทิ iflix, LINE TV หรือแม้กระทั่งการรับชมรายการผ่าน Facebook LIVE การแสดงผลยังไม่สามารถทำได้เต็มพื้นที่ของจอ แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ หลายๆ แอพที่เป็นที่นิยมของผู้คนจะเริ่มเพิ่มขีดความสามารถให้รองรับกับอัตราส่วนที่ซัมซุงกำหนดขึ้นได้

กล้อง

UI ของกล้องหลัง

กล้องของซัมซุงเป็นสิ่งที่เชิดหน้าชูตามาตลอด 2-3 ปีมานี้ ซึ่งจากเดิมใน S7 / S7 Edge ที่ถ่ายภาพได้ดี คมชัด ให้สีสันที่สดใสอยู่แล้ว ใน S8+ ได้ต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ในส่วนของกล้องหลัง ความละเอียด 12 ล้านพิกเซล กับเทคโนโลยี Dual Pixel ยังคงไว้เช่นเดิม ที่ปรับเปลี่ยนไป คือ ค่ารูรับแสง ที่ขยับจาก f/1.8 มาเป็น “f/1.7” เพื่อให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมไปถึงการทำให้ภาพมีมิติชัดตื้นดูเนียนตายิ่งขึ้นไปอีก

อีกหนึ่งจุดของกล้องหลัง คือ ความเร็วในการโฟกัสและการจับภาพทันทีเมื่อกดชัตเตอร์ ซึ่งซัมซุงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก เพราะบางครั้งการถ่ายภาพได้รวดเร็วทำให้เราไม่พลาดช็อตสำคัญ แม้จะเป็นเพียงเสี้ยวเวลาเดียวก็ตาม ดังนั้นเพียงหยิบ S8+ ขึ้นมา เปิดกล้องปุ๊บ ถ่ายปั๊บได้เลย

ส่วนเทคนิคในการเปิดกล้องให้เร็วขึ้น ทางซัมซุงจะมีเมนู “เริ่มด่วน” อยู่ภายในการตั้งค่าของกล้อง ใช้การกดปุ่มพาวเวอร์ติดกัน 2 ครั้ง

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ การตั้งค่าความละเอียดของกล้องหลังยังมีผลต่ออัตรส่วนภาพเช่นกัน ซึ่งกล้องหลังให้ความละเอียดสูงสุด 12 ล้านพิกเซล อัตราส่วนภาพจะเป็น 4 : 3 มีให้เลือกถ่ายภาพในอัตราส่วน 18.5 : 9 ด้วย ทำให้เราถ่ายภาพได้ในมุมที่กว้างขึ้น แต่ความละเอียดจะปรับลดลงเหลือ 7.9 ล้านพิกเซล

การตั้งค่าความละเอียดกับสัดส่วนภาพ และความละเอียดของการบันทึกวีดีโอ

การเรียกใช้โหมดอื่นๆ และการสลับกล้อง เป็นอีกเรื่องที่ S8+ ทำให้ง่ายขึ้น สลับกล้องหน้า-หลัง เพียงทัชขึ้นหรือลง, เรียกดูโหมดอื่นๆ แค่ทัชไปด้านข้าง มีทั้งโหมดโปร, พาโนราม่า, โฟกัสที่เลือก, เคลื่อนไหวช้า, Hyperlapse, อาหาร, ช็อตเสมือนจริง เป็นต้น

โหมดถ่ายภาพกล้องหลังและฟิลเตอร์ปรับโทนสี

โหมดกล้องหน้า

เอฟเฟคลายการ์ตูนกับลายน้ำเป็นอีกลูกเล่นน่ารักๆ ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ เลือกใช้ได้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลังเพียงแตะที่ไอคอนตัวการ์ตูน เหมาะกับการใช้ถ่ายภาพบุคคล

เอฟเฟคลายการ์ตูน ใช้ได้ทั้งกล้องหน้าและกล้องหลัง

หน้าชัดหลังเบลอ

เป็นหนึ่งในรูปแบบการถ่ายภาพบนสมาร์ทโฟนที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งกล้องหน้าและกล้องหลังใน S8+ จะมีโหมดที่เรียกว่า “โฟกัสที่เลือก” (Selective focus) เมื่อเลือกใช้โหมดนี้ การตั้งกล้องจะต้องอยู่ในระยะประมาณ 50 ซม. ทันทีที่กำหนดระยะเรียบร้อย เมื่อกดชัตเตอร์แล้ว ระบบจะทำการประมวลผลสักครู่ หลังจากนั้นภาพที่ถ่ายไว้จะมีไอคอนโชว์ขึ้นมา ให้แตะที่ไอคอนดังกล่าว ซึ่งจะมี 3 ตัวเลือกแสดงขึ้นมา ได้แก่ “โฟกัสใกล้” (ทำให้ฉากหลังเบลอ), “โฟกัสไกล” (ทำให้วัตถุด้านหน้าเบลอ) และ “โฟกัสเคลื่อนที่” (ไม่มีการเปลี่ยนแปลง)

ภาพถ่ายจากกล้องหลังจาก S8+ 

“โหมดปกติ”

โหมดปกติ+ใส่ฟิลเตอร์ขาวดำ+ปรับความสว่างลงเล็กน้อย 

“โหมดอาหาร”

“เอฟเฟคลายการ์ตูน”

แบตเตอรี่

ใน S8+ บรรจุแบตเตอรี่ขนาด 3500 mAh ซึ่งแน่นอนว่าครั้งนี้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบมากมายจากซัมซุงจนมั่นใจได้ว่ามันจะไม่เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือน Note 7 สำหรับความอึดของแบตในการใช้งานทั่วไป ใน 1 วันอยู่ในสบายๆ ทั่วไปในที่นี้ทดสอบด้วยการใช้ Facebook, LINE, Instagram, เช็คอีเมล์, ถ่ายภาพ ส่วนการใช้งานที่หนักขึ้นมาหน่อย เช่น ดู YouTube, เล่นเกม ร่วมกับใช้งานทั่วไป อัตราการซดแบตค่อนข้างเร็วอยู่เล็กน้อย แม้ใน 1 วันจะมีแบตเหลืออยู่บ้าง แต่ยังไงจะใช้วันต่อไปก็จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องชาร์จ

ที่ลืมไม่ได้เลยใน S8+ หรือ S8 เอง ยังมาพร้อมเทคโนโลยีชาร์จเร็ว Fast Charging และชาร์จไร้สาย Wireless Charging

ทดสอบประสิทธิภาพด้วยแอพ Benchmark

“Antutu Benchmark”

“PC Mark”

“AndroBench”

สรุปรีวิว Samsung Galaxy S8+

จากสิ่งที่เล่าไปทั้งหมด ตลอดจนภาพของ Samsung Galaxy S8+ ในมุมมองต่างๆ คงทำให้หลายคนที่เล็งรุ่นนี้ไว้ได้รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงดีไซน์ตัวเครื่องที่ค่อนข้างชัดเจน จอโค้งที่ซัมซุงจริงจังมาตลอด 2-3 ปีมานี้ ยังเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนและสร้างความสวยงาม สะดุดตาให้กับใครต่อใครได้ไม่ยาก ขนาด 6.2 นิ้วที่แลดูผอมสูงคงไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนที่มองเรื่องความสวยเป็นลำดับต้นๆ ซึ่งสิ่งที่ซัมซุงทำในวันนี้ เราน่าจะเห็นสมาร์ทโฟนในลักษณะคล้ายๆ กันนี้เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้

จอแบบ Infinity displays ที่มาพร้อมอัตราส่วน 18.5 : 9 ทำให้เราได้เห็นสิ่งต่างๆ ในแนวตั้งและแนวนอนได้ยาวขึ้น กว้างขึ้น เป็นประสบการณ์ใหม่ของดูรายการย้อนหลัง ตัวอย่างหนังใหม่จาก YouTube ได้อย่างเต็มตาเสมือนยกจอโรงภาพยนตร์มาไว้บนมือเรา แม้แอพที่รองรับกับอัตราส่วนภาพแบบใหม่ของซัมซุงจะยังมีให้ใช้จริงไม่เยอะ แต่เชื่อว่ารูปแบบของการแสดงผลของคอนเทนต์ประเภทต่างๆ ผ่านแอพจะมีการพัฒนาให้รองรับกับอัตราส่วนใหม่มากยิ่งขึ้นในอนาคต

กล้องถ่ายภาพที่ดีอยู่แล้วตั้งแต่ S7 / S7 Edge ยิ่งดีขึ้นใน S8+ แถมใช้งานง่าย เข้าถึงได้เร็ว

ความปลอดภัยที่ไม่ยึดติดอยู่แค่สแกนลายนิ้วมือ แต่ยังขยายไปถึงการสแกนม่านตาที่แม่นยำและรวดเร็ว รวมไปการจดจำใบหน้าที่แม้จะยังไม่เสถียรเท่าไหร่ แต่ก็แสดงให้เห็นถึงระบบการป้องกันข้อมูลส่วนตัวบนสมาร์ทโฟนในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะยิ่งแน่นหนาทำให้เราอุ่นใจมากขึ้น

User Interface ที่พัฒนาขึ้น รูปแบบการเข้าถึงแอพและเมนูต่างๆ ปรับเปลี่ยนเพื่อการใช้งานที่สะดวกและไวขึ้น แต่อาจต้องให้เวลาผู้ใช้ปรับตัวกันสักเล็กน้อย โดยเฉพาะกับการทัชขึ้น-ลง, ซ้าย-ขวา จากหน้าโฮม

แบตเตอรี่ที่ผ่านมาตรฐานหลายขั้นตอนของซัมซุง คงช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของคนส่วนใหญ่มาได้มากพอสมควร สำหรับใน S8+ กับแบตเตอรี่ความจุ 3500 mAh พอใน 1 วันแบบไม่ต้องชาร์จระหว่างวันได้

สุดท้ายนี้ เพียงแค่ความสวยจากเปลือกนอกที่โดดเด่น, กล้องที่คมชัด น่าจะเป็นสองปัจจัยหลักๆ ที่เพียงพอต่อการตัดสินใจของใครหลายๆ คนที่มองรุ่นนี้ไว้ แม้ราคาจะแตะหลัก 3 หมื่นก็ตาม

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here