ซิป้า ร่วมเซ็นเอ็มโอยูขอวีซ่าและใบอนุญาตงานออนไลน์

ซิป้า ร่วมเซ็นเอ็มโอยูขอวีซ่าและใบอนุญาตงานออนไลน์ เดินหน้าตัวกลางขับเคลื่อนการลงทุน หวังเป็นวันสต็อปเซอร์วิส เพิ่มนักลงทุนในไทยนำร่อง ภูเก็ต –เชียงใหม่ เปิดแน่ ส.ค.”

sipa-mou

รัฐบาล ผลักดัน พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ เพื่อช่วยประชาชนอำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการ ขจัดการทุจริต ด้าน ซิป้า ขานรับ เดินหน้าเซ็นเอ็มโอยูหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอวีซ่าและใบอนุญาตงานออนไลน์ เป็นตัวกลางขับเคลื่อนการลงทุน หวังเป็นวันสต็อปเซอร์วิส เพิ่มนักลงทุนในไทย

ภาพซ้าย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ภาพขวา นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) จัดงานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ในส่วนภูมิภาคเพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตของทางราชการ โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ประธานในพิธีฯ นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ และตัวแทนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมการจัดหางาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ร่วมลงนาม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงเป็นเรื่องเล็กไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ผลที่เกิดขึ้นจากนี้มันยิ่งใหญ่มหาศาล หากมีการนำไปขยายผล เพราะความไม่สะดวกในการดำเนินการทางธุรกิจ ถือเป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของคนที่เกี่ยวข้อง เป็นทุกข์ของนักธุรกิจ ทั้งนี้ที่ผ่านมาการแก้ไขเรื่องนี้ คือ การหยอดน้ำมันหรือการให้เงินใต้โต๊ะ เพราะบางครั้งเงินก็ซื้อความสะดวกให้เราได้ แต่ก็ซื้อความไม่สะดวกให้แก่คนอื่นได้เช่นกัน ดังนั้นความไม่สะดวกจึงเป็นบ่อเกิดของการคอร์รัปชั่น หากขจัดความไม่สะดวกได้จะสามารถแก้ปัญหาได้หลายอย่าง ฉะนั้นรัฐบาลจึงได้ผลักดัน พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บุคคลที่จะไปติดต่อกับทางราชการ และไม่ต้องเรียกเก็บเอกสารจากประชาชนออกมา ซึ่งใช้บังคับเมื่อกลางปีที่แล้ว

นายวิษณุ กล่าวว่า ทั้งนี้เมื่อปลายปีที่แล้ว มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการลงทุน อาทิ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ได้เชื่อมต่อข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์กัน ทำให้ทราบทั้งเรื่องของงบการเงิน รายชื่อผู้ถือหุ้น โดยไม่ต้องติดต่อหลาย ๆ ที่ให้ยุ่งยาก อย่างไรก็ดีในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนนั้น ยังมีหลายอย่างที่ต้องเชื่อมต่อ จึงมีการขยายมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 หน่วยงาน คือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมการจัดหางาน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดภูเก็ต เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลในระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดความสะดวก โดยในวันนี้ เราสามารถขอวีซ่า และใบอนุญาตทำงาน ได้ง่ายขึ้นซึ่งจะพิจารณาคำขอและยื่นคำขอผ่านออนไลน์ ดังนั้นต่อไปใครมาขอส่งเสริมการลงทุน ก็จะได้ความสะดวกเพิ่มขึ้น และระยะต่อไปจะเพิ่มการอำนวยความสะดวกเรื่องอื่น ๆ และขยายไปยังจังหวัดอื่นที่มีความพร้อมต่อไป

ด้าน นายศุภชัย จงศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ กล่าวว่า เราจะเข้ามาเป็นศูนย์กลางการให้บริการส่งเสริมการลงทุน อาทิ ในจังหวัดภูเก็ต เราจะเปิดศูนย์ Innovation Park เพื่อนักลงทุนและโบรกเกอร์ ดังนั้นนักลงทุนที่จะมาลงทุนในภูเก็ตหรือจังหวัดใกล้เคียง สามารถดำเนินการโดยลงทะเบียนออนไลน์ผ่านระบบของบีโอไอ และจะได้รับไอดี จากนั้นนักลงทุนสามารถเดินทางมายังศูนย์ Innovation Park ที่ภูเก็ต และบอกไอดี เราจะทำหน้าที่เป็นหน้าบ้าน ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อที่จะดำเนินการในส่วนของใบอนุญาตทำงานและการขอวีซ่า โดยนักลงทุนไม่จำเป็นต้องนำเอกสารมายื่นหลายขั้นตอน ทั้งนี้ศูนย์บริการดังกล่าว คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ขณะนี้อยู่ในช่วงปรับปรุงระบบและฝึกผู้ทำหน้าที่ดูแล เมื่อดำเนินการในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่และภูเก็ตไปได้ด้วยดีแล้ว เราก็จะดำเนินการไปยังจังหวัดอื่นต่อไป อาทิ ขอนแก่น ซึ่งทางซิป้ามีสำนักงานอยู่ที่นั้นด้วย ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนหลายท่านที่ทราบข้อมูลนี้ได้ติดต่อเข้ามาสอบถามหลายละเอียดบ้างแล้ว โดยเรามองว่าหากสามารถอำนวยความสะดวกได้จริงนักลงทุนน่าจะเข้ามาที่ประเทศไทยมากขึ้น และนีคือสิ่งที่เราตั้งเป้าเป็นวันสต็อปเซอร์วิส

sipa-mou-3

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here