TikTok มุ่งพัฒนา Digital Economy ในประเทศไทย เดินหน้าสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำ

ผ่านการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นชั้นนำระดับโลก เดินหน้าสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำระดับโลกและระดับประเทศเพื่อมุ่งพัฒนา Digital Economy หรือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสร้างประโยชน์และพัฒนาเศรษฐกิจระดับประเทศ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำระดับประเทศในด้านต่างๆ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข, กรมสุขภาพจิต, กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), กระทรวงพาณิชย์โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA), สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ในการสร้างสรรค์ความร่วมมือในมิติต่างๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา Digital Economy ในประเทศไทย ผ่านการใช้แพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะสร้างสรรค์รูปแบบการสื่อสารแนวใหม่ที่สามารถเข้ากับยุคสมัยและเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ชนิดา คล้ายพันธ์ Head of Public Policy ของ TikTok กล่าวว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่กำลังเป็นที่นิยมจากจำนวนยอดดาวน์โหลดทั่วโลกที่สูงกว่า 2 พันล้านดาวน์โหลด ที่นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาประสบการณ์บนแพลตฟอร์มให้กับผู้ใช้ของเราอย่างต่อเนื่องแล้ว TikTok ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนา Ecosystem บนแพลตฟอร์มให้เกิดความยั่งยืน ที่ไม่เพียงสำหรับผู้ใช้ ครีเอเตอร์ หรือพันธมิตรธุรกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนา Digital Economy หรือ นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย ผ่านกลยุทธ์การสร้างพันธมิตรกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำระดับประเทศในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการศึกษา สังคมและสาธารณสุข รวมถึงด้านเศรษฐกิจ และมากไปกว่านั้น TikTok ยังมีแนวคิด TikTok For Good เพื่อสร้างสรรค์แรงบันดาลใจและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ด้วยการนำ TikTok ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นพื้นที่แห่งพลังบวกที่ส่งเสริมและจุดประกายให้เกิดความสร้างสรรค์ที่ไร้ขีดจำกัด มาเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและส่งต่อคอนเทนท์ที่เป็นประโยชน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ทำให้ในวันนี้ TikTok จึงไม่ได้เป็นเพียงแพลตฟอร์มแห่งความสนุก ความบันเทิง แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่หลายองค์กรเลือกใช้ในการสื่อสารเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอนาคตต่อไป

“TikTok เรามุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมด้วยการจับมือกับหน่วยงานและองค์กรชั้นนำของประเทศ ในการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลอย่าง TikTok เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติและสังคมในหลากหลายมิติ อาทิ มิติด้านการศึกษา, เศรษฐกิจ, คุณภาพชีวิต, สาธารณสุข และสังคม ซึ่งถือเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้กับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทยอีกด้วย” ชนิดา กล่าวเสริม

โดยความร่วมมือของ TikTok และหน่วยงานต่างๆ ในการพัฒนา Digital Economy ในประเทศไทย มีดังต่อไปนี้

มิติด้านการศึกษา

TikTok ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในการริเริ่มโครงการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนท์ทางการศึกษาในรูปแบบวิดีโอสั้นบนแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อเป้าหมายในการจุดประกายให้เกิดการสร้างสรรค์คอนเทนท์การศึกษาและสาระความรู้ในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์พฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ โดย TikTok ได้จัดกิจกรรมอบรมเพื่อส่งเสริมการศึกษาให้ความรู้แก่ครู อาจารย์ และนักเรียนทั่วประเทศ ผ่าน Webinar หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป็นการเน้นเนื้อหาในเรื่องแนวทางการสร้างสรรค์คอนเทนท์วิดีโอสั้นบน TikTok เพื่อเพิ่มโอกาสในการใช้ TikTok พัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่สามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างสรรค์แคมเปญ #TikTokUni ในการเชิญชวนเหล่านักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ อาจารย์ หรือผู้รู้ในแต่ละสาขาวิชา มาสร้างสรรค์คอนเทนท์การศึกษาบน TikTok ซึ่งจากแคมเปญนี้ได้สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จมากมายทั้งการแจ้งเกิดครีเอเตอร์สายการศึกษาหน้าใหม่เป็นจำนวนมาก และการตอบรับจากผู้ใช้ส่งผลให้ #TikTokUni เป็นแฮชแท็กแคมเปญที่มียอดวิวสูงสุดในประเทศไทย ด้วยยอดวิว 15.6 พันล้าน

มิติด้านสังคมและสาธารณสุข

TikTok ได้ร่วมมือกับ กระทรวงสาธารณสุข ในการเปิดแอคเคาท์ของกระทรวงสาธารณสุข ในชื่อ @thaimoph “ไทยรู้สู้โควิด” ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เกี่ยวกับ COVID-19 ทั้งการนำเสนอข้อมูลรายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเองในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 บนแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งถือเป็นอีกปรากฏการณ์ที่หน่วยงานภาครัฐเลือกใช้ในการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบคอนเทนท์วิดีโอสั้นบน TikTok

 

นอกจากนี้ TikTok ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. รณรงค์การเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับ COVID-19 ระลอกใหม่ หลังจากที่เคยร่วมมือกับ สสส. ในการสร้างสรรค์ #ล้างมือ40วิ เมื่อปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้คนไทยได้ตระหนักถึงการป้องกันและดูแลตนเองให้ปลอดภัยจาก COVID-19 ซึ่งได้รับผลตอบรับอย่างดีเยี่ยม ด้วยยอดวิวสูงถึง 5.4 พันล้าน และล่าสุด TikTok ได้ร่วมมือกับ สสส. อีกครั้งในการส่งแคมเปญกระตุ้นให้ผู้คนเกิดการรับรู้เกี่ยวกับการดูแลตัวเองท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ เพื่อนำไปใช้ปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน ผ่านแพลตฟอร์ม TikTok เพื่อสร้างการรับรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ พร้อมเชิญชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแนะนำไอเดียการดูแลตัวเอง การรักษาความสะอาดและหลีกเลี่ยงสัมผัสจุดเสี่ยง COVID-19 อาทิ วิธีล้างมือสุดครีเอทอย่างถูกวิธี, เช็ดหน้าจอโทรศัพท์มือถือจุดเสี่ยงสัมผัสโรค, ทำความสะอาดลูกบิดประตูพร้อมโชว์สเต็ปแดนซ์ เป็นต้น พร้อมติดแฮชแท็ก #อย่าเพิ่งจับอย่าเพิ่งทัช โดยหลังจากเปิดตัวแคมเปญ #อย่าเพิ่งจับอย่าเพิ่งทัช เมื่อต้นปีที่ผ่านมา พบว่าได้รับกระแสตอบรับอย่างดีเยี่ยมจนสามารถสร้างยอดวิวได้สูงถึง 20.5 ล้าน

อีกทั้ง TikTok ยังให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทย โดยได้ร่วมมือกับ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในการพัฒนากลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์คอนเทนท์ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีบน TikTok เพื่อสร้างความตระหนักรู้ไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ และส่งเสริมให้บุคลากรเจ้าหน้าที่กรมสุขภาพจิตเป็นนักสื่อสารสุขภาพจิตที่เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ รวมทั้งการจุดประกายให้เรื่องสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่พูดคุยกันได้ในสังคม ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการสานต่อความมุ่งมั่นของ TikTok ในการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับชุมชนผู้ใช้ TikTok ทั้งในทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทย

มิติด้านเศรษฐกิจ

สำหรับมิติด้านเศรษฐกิจ ล่าสุด TikTok ได้ร่วมมือกับ สํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนด้านดิจิทัลคอนเทนท์และพัฒนาครีเอเตอร์ไทย เพื่อขยายโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างสรรค์คอนเทนท์และครีเอเตอร์มืออาชีพได้ อีกทั้งขยายโอกาสให้คอนเทนท์ไทยและครีเอเตอร์ไทยได้เป็นที่รู้จักในระดับโลก และนอกจากนี้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับ depa จะมาพร้อมกับมิติของการสร้างโอกาสให้กับธุรกิจในประเทศไทยด้วยการนำโซลูชั่นการตลาดดิจิทัลแบบครบวงจรอย่าง TikTok For Business ซึ่งถือเป็นโซลูชั่นการตลาดดิจิทัลแบบใหม่ที่จะเข้ามาเติมเต็มศักยภาพให้กับผู้ประกอบไทยในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันและต่อยอดพร้อมขยายการทำตลาดดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ TikTok ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ครบเครื่องเรื่องการค้าออนไลน์ by NEA” ที่เน้นการจัดทำหลักสูตรเสริมองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการได้เรียนรู้ด้านการค้าออนไลน์อย่างครบวงจร เพื่อข้ามข้อจำกัดทางธุรกิจในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากร งบประมาณ หรือความรู้ด้านเทคโนโลยี โดยใช้ TikTok For Business สร้างโอกาสให้ธุรกิจสามารถขยายกลุ่มเป้าหมายด้วยการสร้างสรรค์คอนเทนท์วิดีโอสั้น ซึ่งถือเป็นแนวทางการตลาดรูปแบบใหม่ที่กำลังมาแรงและมีประโยชน์กับทุกธุรกิจ

และนี่ถือเป็นบทพิสูจน์ของ TikTok ในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนที่ไม่เพียงแค่สร้างความสนุกและความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้ใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวคิด TikTok For Good  สร้างสรรค์แรงบันดาลใจและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม

เกี่ยวกับ TikTok

TikTok คือ แพลตฟอร์มสร้างสรรค์วิดีโอสั้นชั้นนำระดับโลก พันธกิจของ TikTok คือ การสร้างสรรค์ แรงบันดาลใจและมอบความสุขให้กับผู้คน TikTok มีสำนักงาน อยู่ทั่วโลก ได้แก่ ลอสแอนเจลิส นิวยอร์ค ลอนดอน ปารีส เบอร์ลิน ดูไบ มุมไบ สิงคโปร์ จาการ์ตา โซล และโตเกียว สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถ ดูได้ที่ http://www.tiktok.com/