อะไรคือวัฒนธรรม Ultra Hardcore ที่เหล่าพนักงาน Tesla ได้เจอ

[Top Stories] หลังข่าว Tesla จ่อให้พนักงานนอนโรงงานเพื่อเร่งการผลิต เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้ว่า ‘Ultra Hardcore’ ของบริษัทนี้คืออะไร เป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบไหน และทำไมถึงได้มีแต่พนักงานสาปส่ง จนออกมาแฉกับสื่อเป็นระยะ ๆ ในบทความนี้ลองมาดูกัน

หลายคนที่ติดตามข่าวเทคโนโลยีมานาน ก็คงรู้จักบุคคลที่ชื่อ Elon Musk เขาคือใคร ? เขาคือซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ทั้ง Tesla , SpaceX และ X (หรือ Twitter เก่า) รวมถึง Neuralink แน่นอนการเป็นซีอีโอมากกว่าหนึ่งบริษัท ย่อมหมายถึงการทำงานมากกว่าเท่าตัว ชนิดที่การประชุมทุกวันก็คงเป็นเพียงเงื่อนไขขั้นต่ำ

ทั้งนี้ทุกบริษัทที่ว่ามา ล้วนมีความทะเยอทะยานสูงมาก ด้วยเหตุนี้เอง Elon Musk จึงคาดหวัง ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ทั้งกับตัวเอง รวมถึงคนที่มาทำงานด้วย จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการทำงานแบบ “Super Hardcore” หรือ “Ultra Hardcore” ที่ล่าสุดได้นำมาใช้ใน X ด้วยเช่นกัน

Ultra Hardcore คืออะไร ?

โรงงาน Tesla สาขาเซี่ยงไฮ้

ในทุก ๆ บริษัท ก็มักจะมีวัฒนธรรมหรือบรรยากาศการทำงานที่แตกต่างกันไป ดีบ้างไม่ดีบ้างก็แล้วแต่โชคแล้วแต่ชะตา แต่สำหรับบริษัทในเครือของ Elon Musk จะมีสิ่งที่เรียกว่า Ultra Hardcore ถ้าใช้ในที่ทำงาน ก็คือการทำงานแบบ ‘โค_รหนัก’ ตรงตามตัวอักษร

“มันคือการทำงานที่ยาวนานสุด ๆ ผิดครั้งเดียวคือเลิกจ้าง”

ทางสื่อ The Verge ได้มีโอกาสพูดคุยกับพนักงาน Tesla บางราย ซึ่งออกมาเผยความในใจชวนน่าใจหายว่า มันคือชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานมาก ๆ แถมมีสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยเลย ทั้งการถูกคุกคาม เรื่องอื้อฉาว เจอค่าปรับแปลก ๆ การฟ้องร้อง และเหนือสิ่งอื่นใด คือความกลัวในการทำงานผิดพลาด เพราะหากผิดพลาดเพียงครั้งเดียว ก็จะนำไปสู่การเลิกจ้างเลย

“มันเป็นการทำงานที่กินเวลามาก แม้แต่ในหยุดสุดสัปดาห์”

Huibert Mees หัวหน้าทีมวิศวกรระบบหนึ่งในรถไฟฟ้ารุ่น Model S ที่ทำงานกับ Tesla กว่า 5 ปีกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม Mees ก็กล่าวเพิ่มเติมไว้อย่างน่าสนใจว่า ‘Tesla คงอยู่ไม่รอด หากไม่ใช่เพราะการปฏิบัติที่ก้าวร้าวนี้’ ซึ่งแม้ในช่วงแรก ๆ จะดีกว่านี้ โดยเฉพาะช่วงที่ได้ร่วมงานกับทีมเล็ก ๆ ช่วยกันสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมอย่างแท้จริง ซึ่งกำลังพลิกโฉมอุตสาหกรรมในตอนนั้นเอง

ที่ผ่านมา Tesla มีข่าวเรื่องการละเมิดสิทธิของพนักงานบ่อยครั้ง โดยที่โด่งดังเป็นพิเศษเลย คือการให้พนักงานหรือทีมวิศวกรของโรงงาน Tesla สาขาเซี่ยงไฮ้ ต้องอยู่เกินกะ 12 ชั่วโมง จนต้องนอนพื้นที่โรงงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเหตุเกิดเมื่อปีที่แล้วนี้เอง อื่น ๆ ก็มีบางคนเคยเป็นลมเพราะขาดน้ำ บางคนเคยถูกเครื่องจักรทับขา บางวันมีเหตุเพลิงไหม้ และบางวันมีเหตุท่อน้ำเสียแตก จนต้องเดินลุยน้ำ (เสีย) ทั้งอย่างนั้น

ในโรงงาน Tesla ที่สาขารัฐแคลิฟอร์เนีย ก็พบปัญหาด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างหนัก ชนิดที่มากกว่าโรงงานผลิตรถยนต์อื่น ๆ ในสหรัฐฯ ถึง 10 แห่งรวมกัน จนมีรายงานการบาดเจ็บของพนักงานสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะชั่วโมงการฝึกซ้อมรับมือที่สั้นลงของบริษัท ที่อาจเอาเวลาไปผลิตรถมากกว่าแทน

ซ้ำร้ายยังมีปัญหาการคุกคามระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการเหยียดเชื้อชาติและการเหยียดเพศ โดยเฉพาะพนักงานผิวสีและผู้หญิง จนมีการฟ้องร้องมาหลายคดีแล้ว แต่ทาง Tesla ก็ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหามาโดยตลอด

Tesla Cybertruck

แม้เรื่องภายในของบริษัทจะไม่ดีนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่า Tesla คือบริษัทผู้ผลิตรถไฟฟ้าชั้นนำระดับโลกอย่างแท้จริง ผลงานล่าสุดอย่าง Cybertruck รถกระบะไฟฟ้าตัวดัง จากที่เคยมีปัญหาการผลิตจนต้องเลื่อนไปกว่า 4 ปี แต่ในปีที่แล้วก็มียอดจองกว่า 2 ล้านคัน และปัจจุบันก็ส่งมอบแก่ผู้สั่งจองชุดแรกเรียบร้อย ซึ่งก็พบรีวิวในแง่บวกเป็นส่วนมาก โดยเฉพาะเรื่องความทนทานที่ชนแล้วแทบไม่เป็นอะไรเลย ทว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้นั้น ไม่รู้ว่าเหล่าพนักงานต้องผ่านอะไรมาบ้าง แต่สำหรับเหล่าผู้ซื้อหลาย ๆ คนแล้ว ก็คงให้ความสนใจในตัว ‘สินค้า’ มากกว่าเรื่องภายในเป็นธรรมดา…หรือเป็นสัจธรรม

ที่มา : Theverge