“บิล เกตส์” ร่วมมือผู้นำหลายประเทศทั่วโลก หนุนโครงการวิจัยและพัฒนาพลังงานสะอาด ลดปัญหาโลกร้อน

บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์ เปิดตัวโครงการวิจัยและพัฒนาโครงการพลังงานสะอาด ทดแทนการใช้งานพลังงานในรูปแบบเดิม ลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดปัญหาโลกร้อน โดยการลงทุนครั้งนี้ยังมีผู้ร่วมโครงการอย่าง มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ Facebook และผู้บริหารระดับสูงของวงการเทคโนโลยีรวมอยู่ด้วย

bill
เครดิตภาพจาก japantimes.co.jp

ใน COP21 (Conference of Parties) การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 การเจรจาระหว่างผู้นำประเทศจากกว่า 190 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน – 11 ธันวาคม 2558 นี้ ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยมีวาระสำคัญว่าด้วยเรื่องการหาแนวทางและข้อตกลงร่วมกันเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเกิดจากวิกฤตโลกร้อน จนนำไปสู่ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และพายุ ที่นับวันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งภายในงานดังกล่าวมีผู้บริหารระดับสูงของวงการเทคโนโลยีอย่าง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีและผู้ก่อตั้งบริษัท ไมโครซอฟท์,  มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ Facebook, ผู้บริหารระดับสูงอีกหลายบริษัท ตลอดจนนักลงทุนและผู้นำในอีกหลายประเทศ เช่น บารัค โอบามา ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เข้าร่วมประชุมด้วย

บิล เกตส์ กล่าวว่า โลกจะมีการใช้พลังงานมากขึ้นอีกราว 50% ภายในช่วงกลางของศตวรรษนี้ ซึ่งพลังงานส่วนใหญ่เป็นประเภทเชื้อเพลิง ถ่านหิน และน้ำมัน ล้วนแต่เป็นต้นตอของปัญหาโลกร้อน ซึ่งในปัจจุบันมีการคิดค้นพลังงานทดแทน เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจเป็นหนึ่งในหนทางแห่งอนาคตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ แต่ในความท้าทายของเราคือการคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ที่บริษัทและนักลงทุนจะต้องร่วมกันพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน โดยหวังว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะให้กับสนับสนุนด้วยเช่นกัน

บิล เกตส์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนจากภาคเอกชนทั่วโลก จะก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานที่สามารถออกสู่ตลาดได้จริงในอนาคต ซึ่งการแก้ไขปัญหาช่วงเริ่มต้นจะเน้นไปที่เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสำคัญ โดยมี 20 ประเทศที่มีฐานะทางการเงินมั่นคั่ง ได้ให้คำมั่นที่จะลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดปีละประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี ก่อนจะขยับเป็น 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปีถัดไป

อ้างอิงจาก theguardianabc.net

 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here