บอกลา SD Card Class 4 ได้แล้ว มาเลือกซื้อ SD Card ให้ตรงกับที่ต้องการดีกว่า

เคยรู้สึกไหมว่า ทำไมบันทึกรูปนานจัง ถ่ายวิดีโอกระตุก หรือสมาร์ทโฟนของเราทำงานช้าผิดปกติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ SD Card อุปกรณ์เก็บข้อมูลที่หลาย ๆ คนมักมองข้ามนี้เอง หรือยังไม่รู้เลยว่า เลือกซื้อ SD Card มาผิด !!

broken-memory-failure-sd-card-microsd-card-03
ภาพจาก : Gadgetguy

รู้หรือไม่ว่า ใน SD Card (Secure Digital CARD) หรือ Micro SD Card ที่ใช้ ๆ กันอยู่นี้ แม้บางตัวจะมีความจุเท่ากัน แต่ภายในกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง สังเกตุได้จากราคา ที่บางตัวความจุเท่ากันแต่อีกตัวแพงกว่า หรืออีกตัวความจุน้อยกว่า แต่ดันแพงกว่าตัวที่ความจุเยอะซะงั้น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ SD Crad มันมีการแบ่งสเปกให้เข้ากับการใช้งานนั้น ๆ นั้นเอง แต่ดูยังไงล่ะ แบบไหนที่ควรใช้ล่ะ และทำไมผมถึงบอกว่า บอกลา SD Card Class 4 ได้แล้ว มาดูกัน

Class 4 กับ Class 10 และ U1 กับ U3 และ UHS-1 กับ UHS-2 คืออะไร (แว้)
best-microsd-cards_thumb
ภาพจาก : PC advisor

มาดูเรื่องพื้นฐาน (แต่แอบยาก) กันก่อน ใน SD Card แต่ล่ะตัว ส่วนมากจะประกอบไปด้วยเครื่องหมายชวนงงมากมาย แต่อย่าเพิ่งสับสน !! ถ้าเราดูเป็น มันจะช่วยให้เราสามารถเลือก SD Card ที่ตรงตามความต้องการได้ดีมาก ส่วนความหมายของเครื่องหมายเหล่านี้ ตอนนี้ให้จำง่าย ๆ ก่อนว่า

  • Speed Class : หน่วยวัดความเร็วของ SD Card แบบเก่า ปัจจุบันมี Class 2 – Class 10
  • UHS Speed Class : หน่วยวัดความเร็วของ SD Card แบบใหม่ ปัจจุบันมี U1 – U3
  • Bus Speed : หน่วยวัดค่า Ultra-High Speed Bus หรือ UHS ของ U1 – U3 แบ่งเป็น UHS-I กับ UHS-II

เทียบความเร็ว Speed Class

videoclassspeeds-100646844-large

จากตาราง ก็แสดงให้เห็นถึงภาพรวมของ Speed Class ชัดขึ้นเยอะ ซึ่งตัวเลขความเร็วก็อิงตามเลข Class เลยครับ เช่น Class 2 ให้ความเร็วที่ 2 MB/s , Class 4 ให้ความเร็วที่ 4 MB/s และ Class 10 ให้ความเร็วที่ 10 MB/s แต่หลัง Class 10 เป็นต้นไป จะไม่ว่าเรียก Class แล้ว แต่เป็น U (UHS) แทน เช่น U3 ให้ความเร็วที่ 30 MB/s เป็นต้น

แล้ว V คืออะไร ?

เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางสมาคม SD Card หรือ SDA (SD Card Association) ได้ประกาศเปลี่ยนชื่อรหัสเรียกใหม่ว่า Video Speed Class หรือ V นั้นเอง โดยมองว่า ในอนาคต จะมีการบันทึกวิดีโอความละเอียดสูงมากขึ้น จึงเอาชื่อ Video เป็นตัวตั้งซะเลย (ง่ายดีแฮะ) และวิดีโอความละเอียดสูงที่ว่าก็คือ 4K กับ 8K นั้นเอง รวมถึง การบันทึกวีดีโอแบบ 360 องศาด้วยสำหรับ Class V นั้น ตอนนี้ก็เริ่มมีให้เห็นบ้างแล้ว แต่ยังน้อยอยู่ และหายาก

ข้อควรรู้

ความเร็วที่เห็นในตาราง ต้องบอกก่อนว่านี้เป็นเพียงความเร็วขั้นต่ำนะครับ ใน SD Card แต่ล่ะรุ่น แม้จะระบุว่าเป็น Class 10 ก็จริง แต่ก็มีบางตัวที่ให้ความเร็ว Read/Write (อ่าน/เขียน) สูงกว่าต่ำกว่าด้วย เช่น Sandisk Extreme Class 10 U3 ให้ความเร็ว Read (อ่าน) ถึง 90 MB/s อีกรุ่น Sandisk Ultra เป็น Class 10 เหมือนกัน แต่รุ่นนี้ให้ความเร็ว Read ที่ 48 MB/s ต่างกับรุ่น Extreme อย่างเห็นได้ชัด เท่ากับว่า เวลาจะเลือกซื้อ SD Card ไม่ใช่แค่ดูเพียง Class เท่านั้นแล้ว แต่เรายังต้องดูความเร็ว Read/Write Speed ด้วย แน่นอนว่า ยิ่งเยอะยิ่งแพง

(อีกวิธีดูง่าย ๆ คือใน Class 10 บางรุ่น จะมีตัว U3 ตามท้ายด้วย หมายความว่า SD Card รุ่นนั้น ๆ คือ Class 10  ระดับสูง ถ้าเป็น U1 ก็คือ Class 10 ระดับกลาง ถ้าไม่มี U อะไรเลย ก็แสดงว่าคือ Class 10 ระดับล่างนั้นเอง)

UHS-1 กับ UHS-2 ต่างกันยังไง

best-microsd-cards-speed-standards

ค่า Bus Speed ของ SD Card ปัจจุบันแยกเป็น 2 ประเภทคือ UHS-I (UHS-1) กับ UHS-II (UHS-2) ทั้งสองมีความแตกต่างแบบชัด ๆ เลยคือ ความเร็ว โดยความเร็วของ SD Card มากสุดเท่าที่ผมเคยเห็นคือ 300 MB/s ความเร็วระดับนี้ จะมีอยู่ใน SD Card ที่เป็น UHS-II เท่านั้น ส่วน UHS-I จะอยู่ที่ 100 MB/s จุดสังเกตคือ ตัว UHS-II จะมีแถบทองแดงหรือ Pin มากกว่า UHS-I ตามรูป แต่ ณ ปัจจุบันนี้ ยังไม่มีสมาร์ทโฟนเครื่องไหน รองรับ UHS-II ได้เลย หรือต่อให้เอาไปใส่จริง ๆ ตัวสมาร์ทโฟนจะมองเห็นเป็น UHS-I อยู่ดี (อีกอย่าง UHS-II โคตรแพงเลยครับ)

 ความแตกต่างของ SDHC และ SDXC บน SD Card 

sd-delkindevices-web-1
ภาพจาก : Delkin

อีกหนึ่งความเข้าใจผิด ที่หลาย ๆ คนรวมถึงร้านค้าออนไลน์หลายเจ้า ชอบเขียนผิดกันคือ SDHC และ SDXC ซึ่งค่าตรงนี้ มันเป็นตัวบอกความจุของ SD Card นั้น ๆ โดยสรุปง่าย ๆ คือ

  • SD (Standard Capacity) ความจุไม่เกิน 2GB
  • SDHC (High Capacity) ความจุ 2GB ถึง 32GB
  • SDXC (eXtended Capacity) ความจุ 32GB ถึง 2TB !!

จากตรงนี้ ไม่เพียงแต่ตัว SD Card เท่านั้น ในสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์บางตัว จะมีบอกการรองรับตัวความจุนี้ด้วย เช่น ถ้าสมาร์ทโฟนรุ่นหนึ่งเขียนว่า รองรับ SD Card แบบ SDHC แสดงว่า รองรับความจุของ SD Card ได้ไม่เกิน 32GB เท่านั้น แต่ถ้าเขียน SDXC ก็แสดงว่า รองรับความจุได้ระดับ 32GB, 64GB, 128GB ไปจนถึง 200GB หรืออาจถึง 2TB กันเลย (ยังเป็นแค่ทฤษฎี) แต่ส่วนใหญ่ มักจะบอกว่ารองรับความจุเป็นตัวเลขซะมากกว่า เพื่อให้เข้าใจง่าย ๆ ไม่งง

ถึงเวลาบอกลา Class 4 แล้ว (หรือยัง)

burn-sd-3

ลากกันซะยาว จากทั้งหมดทุกคนน่าจะพอรู้วิธีดูและความแตกต่างของ SD Card แต่ล่ะรุ่นแล้ว ทีนี้กลับมามองที่ SD Card Class 4 ข้อดีของมันเลยคือ ราคาถูกมากกก (และชอบจัดโปรแถมในสมาร์ทโฟนหรือกล้องบางตัวด้วย) แต่เดี๋ยวนี้ SD Card Class 10 กลับมีราคาแค่ 200 บาท ก็ซื้อตัว 16GB Class 10 ได้สบาย ๆ แล้ว (แถม Class 4 ไม่น่ามีขายแล้วด้วย) ดังนั้น ยอมควักตังค์อีกนิด ซื้อ Class 10 ไปเลยดีกว่า ซึ่ง Class 4 ส่วนมากมีความเร็วแค่ 4 MB/s เท่านั้น ไม่เกินไปกว่านี้เหมือน Class 10 ถือเป็นความเร็วที่ต่ำมาก ๆ เมื่ออยู่ในยุคที่ สมาร์ทโฟนถ่ายวีดีโอ Full HD กับมีกล้องความละเอียด 13 ล้านพิกเซลแทบทุกรุ่น ณ ตอนนี้ อาจส่งผลให้เครื่องสมาร์ทโฟนที่ซื้อมาแพง บันทึกรูปนานหรือถ่ายวิดีโอกระตุก ไม่สมราคากันเลยก็ได้

ปล.แต่ถ้าบางคนใช้สมาร์ทโฟนรุ่นประหยัด ที่ไม่ได้เน้นถ่ายรูปความละเอียดสูงกับชอบถ่ายวีดีโอแบบ Full HD อะไรหนัก ๆ SD Card Class 4 ก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ หรือถ้าใครมีอยู่แล้ว ยังไม่ต้องถึงกับหักหรือเผาทิ้ง เราเอาไปใส่ใน Card Reader ทำเป็น Flash Drive ก็ได้

เลือกซื้อ SD Card ยังไงให้ตรงตามต้องการดี

android-sd-card-slot

จากนี้ผมจะสรุปแบ่งเป็นข้อ ๆ ให้เข้าใจง่าย ๆ สำหรับการเลือกซื้อ SD Card ในปัจจุบันดังนี้

  1. ชีวิตนี้เพื่อวิดีโอ 1080 กับ 4K สำหรับใครที่ใช้ชีวิตแนวนี้ ให้ไปหา SD Card ที่มีคำว่า U3 ตามท้ายเลยครับ (ยิ่งถ้าสมาร์ทโฟนถ่าย 4K ได้ ยิ่งควรใช้) เช่น Sandisk Extreme หรือ Sandisk Extreme Pro
  2. ชอบถ่ายรูปเป็นหลัก ชอบถ่ายรูปเก็บบรรยากาศต่าง ๆ หรือถ่ายวีดีโอเป็นบางครั้ง แนะนำพวก SD Card Class 10 หรือมี U1 ตามท้าย เช่น Sandisk Ultra
  3. เน้นใช้งานทั่วไป หรือ ถ่าย Selfie อย่างเดียว 16GB Class 10 ราคาไม่เกิน 200 คือคำตอบ
  4. ใช้ Action Camera ควรหา SD Card ที่รองรับโดยเฉพาะ พวกนี้จะมีความทนทานเป็นพิเศษ ใช้ลุยไปกับกล้อง Action Camera ได้ดี (มันจะมีเขียนเลยว่า “สำหรับกล้อง Action Camera”)
  5. ใช้กับกล้องวงจรปิด เช่นเดียวกับข้อ 4 หา SD Card ที่รองรับกับอุปกรณ์นี้โดยเฉพาะ

ข้อควรรู้

  • ไม่แนะนำให้ซื้อ SD Card ที่ไม่มียี่ห้อ
  • หาก SD Card Class 10 ตัวไหน ไม่มีตัว U1 หรือ U3 ตามท้าย ให้ลองมองหาความเร็ว Read ดูแทน
  • นอกจากความเร็ว Read (อ่าน) แล้ว ยังมีความเร็ว Write (เขียน) ด้วย ที่ยิ่งมาก ก็ยิ่งช่วยให้บันทึกรูปภาพได้ไวและอัดวีดีโอไม่สะดุด
  • อย่าลืมดูอุปกรณ์ที่ใช้อยู่ด้วยว่า รองรับ SD Card ที่จะซื้อหรือไม่ เช่น UPS-II

ขอขอบคุณข้อมูลจาก SanDiskTH 

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here