มือถือเปียกน้ำ ไม่ต้องร้อง ! รู้ไว้กับวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

เทศกาลสงกรานต์ เวียนมาบรรจบครบรอบกันอีกครั้งแล้ว ท่านใดที่กำลังเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือกำลังไปท่องเที่ยวยังต่างจังหวัดในช่วงวันหยุดยาวก็ขอให้เดินทางอย่างปลอดภัย ใช้เวลากับครอบครัวอย่างมีความสุขกันถ้วนหน้านะครับ

มาเข้าเรื่องของเรากันดีกว่าครับ ช่วงเทศกาลสงกรานต์แบบนี้ คงจะห้ามไม่ได้ที่จะไม่ให้ใครมาสาดน้ำใส่เรา แต่ในระหว่างที่หลายท่านกำลังเพลิดเพลินกับน้ำสงกรานต์ ก็อาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น โดยเฉพาะ “มือถือเปียกน้ำ” สิ่งที่หลายคนคงไม่อยากประสบพบเจอนัก แต่เมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้ เราจะรับมือและแก้ไขด้วยตัวเองอย่างไร วันนี้แอดมินมีวิธีปฐมพยาบาลมือถือเบื้องต้นมาแนะนำครับ

มือถือเปียกน้ำ

1. เมื่อมือถือเปียกน้ำ อย่า !!! เพิ่งปิดเครื่อง

ด้วยความเคยชินเมื่อมือถือมีปัญหา หลายคนมักเลือกที่จะปิดเครื่องและเปิดใหม่ แต่ในกรณีที่มือถือเปียกหรือตกน้ำ ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะปิดเครื่องหรือกดปุ่มใดๆ เพราะอย่าลืมว่ามือถือมีกระแสไฟฟ้าวิ่งอยู่ อาจทำให้เกิดอาการช็อตขึ้นมาได้ ดังนี้วิธีที่ควรทำคือ รีบหาผ้าแห้งๆ เช็ดรอบตัวเครื่องจนหายเปียก

2. ถอดชิ้นส่วนออก

เมื่อมั่นใจว่าเช็ดมือถือจนแห้งสนิทแล้ว ให้ถอดชิ้นส่วนออก ไม่ได้แปลว่าให้ไขน็อตเพื่อถอดทุกอย่างออกจากกันนะครับ ให้ถอดเฉพาะบางส่วนที่เราสามารถถอดได้ง่ายๆ ได้แก่ ฝาหลัง, แบตเตอรี่, microSD card, ถาดใส่ซิม และซิมการ์ด หากเป็นมือถือที่ถอดฝาหลังไม่ได้ ให้ถอดเฉพาะถาดใส่ซิม, ซิมการ์ด และ microSD card เท่านั้นพอครับ

3. ไดร์เป่าผม ช่วยได้ !!

หลายคนอาจจะคัดค้านว่า เฮ้ย ! ไดร์เป่าผม มันมีไอร้อนจะยิ่งทำให้เครื่องพังไปใหญ่ล่ะซิ … เรื่องนี้แอดมินไม่เถียงครับ แต่แนะนำว่าการเลือกใช้ไดร์เป่าผม ควรปรับให้อยู่ในระดับอ่อนที่สุด และควรใจเย็นๆ ค่อยๆ เป่าไปทีละส่วน เพื่อให้ทุกจุดแห้งสนิท

4. ใช้วิธีบ้านๆ แช่ข้าวสาร

เพื่อให้มั่นใจว่าความชื้นที่สะสมอยู่ในมือถือจะหมดไป การนำมือถือไปแช่ข้าวสารเป็นอีกวิธีที่ช่วยดูดซับความชื้นที่ค้างอยู่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 วัน แต่ข้าวสารที่จะนำมาใช้ควรตักแบ่งออกมากจากถุงหรือถังเก็บใหญ่ เพราะการนำมือถือไปแช่ข้าวสารอาจมีสารเจือปนไปในข้าวสารโดยไม่รู้ตัวได้ และเสร็จภาระกิจไม่ควรนำกลับมาหุงใหม่ ส่วนข้าวสารที่จะนำมาใช้จะเป็นยี่ห้อใดก็ได้ ตามที่สบายใจกันเลยครับ 555

5. ทำตามข้อ 1-4 แล้ว เครื่องยังมีปัญหา ทำไงล่ะ ?

หากทำตามวิธีตั้งแต่ข้อ 1-4 แล้ว มือถือที่เรารักยังมีปัญหาหรือยังใช้การไม่ได้ ก็แนะนำว่าควรนำส่งเข้าศูนย์ซ่อมโดยด่วน เพื่อให้ช่างผู้ชำนาญการได้ตรวจสอบ ตลอดจนซ่อมแซมจุดที่มีปัญหา ซึ่งเราก็ต้องยอมรับสภาพว่า มันจะต้องมีค่าใช้จ่ายตามมาอย่างแน่นอน !!!

6. แล้วถ้าไม่อยากให้มือถือเปียกน้ำล่ะ

ข้อนี้เป็นวิธีป้องกันง่ายๆ ที่ทุกคนควรเตรียมตัว เตรียมพร้อมก่อนที่จะออกจากบ้านไปเผชิญกับเทศกาลสงกรานต์ หากไม่อยากทำตามข้อแนะนำ 1-5 นั่นคือ เตรียมซองใสที่มีซิบรูดปิดมิดชิด แน่นหนา และควรมีขนาดใหญ่กว่ามือถือ เพราะนอกจากจะใส่มือถือได้ ยังช่วยเก็บสัมภาระเล็กๆ น้อย เช่น เงิน หรือกุญแจ ได้ด้วย ส่วนใครที่ใช้มือถือกันน้ำได้ ก็ไม่ต้องกังวลกับเรื่องเปียกๆ แต่อย่างใดครับ อิอิ !!

แนะนำเคล็ดลับไปพอสมควร หวังว่าทุกท่านจะเล่นน้ำสงกรานต์กันอย่างมีความสุขนะครับ ^^

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here