LINE ในชีวิตประจำวัน ยังมีธรรมชาติด้านพฤติกรรมที่น่าสนใจ

คนใช้ LINE พึงตระหนัก เป็นธรรมชาติของแอพฯ นั่นคือ ต้องเข้าใจกติกาการใช้ “1 เบอร์ ผูก 1 LINE ใช้ได้ทีละ 1 เครื่อง” / เปิดใช้แล้วควรลงทะเบียนอีเมล์ / ตั้งชื่อ user ID / ตั้ง display name / และเข้าใจหลักเรื่องการย้ายเครื่องไม่ให้ข้อมูลหาย ซึ่งทั้ง 5 หลักจะทำให้การใช้ LINE อย่างยั่งยืนเป็นไปอย่างราบรื่น

มาถึงการใช้งานแอพฯ LINE ในชีวิตประจำวัน ยังมีธรรมชาติด้านพฤติกรรมการใช้งานที่ควรตระหนักอีกด้วย

1. เข้าใจ LINE
แอพฯ LINE มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งผู้ใช้งานพึงตระหนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งหรือผู้อ่านข้อความก็ตาม

– LINE ไม่บอกว่ากำลังพิมพ์
ตรงนี้เป็นข้อดีเรื่องความเป็นส่วนตัว แต่นับเป็นข้อเสียสำหรับผู้อ่าน และผู้รอคอยคำตอบ เพราะไม่รู้ว่าถามไปแล้วจะได้อ่านคำตอบทันทีหรือไม่ ไม่เหมือนในแอพฯ อื่น เช่น Whatsapp ที่จะมีสถานะบอกว่าอีกฝ่ายกำลังพิมพ์ หรือกำลังพูดตอบแล้วนะ
– LINE บอกว่าอ่านแล้ว
ตอนพิมพ์ดันไม่บอก แต่ตอนเข้ามาอ่านแล้วดันบอกให้อีกฝ่ายรู้ ก็เลยยิ่งสร้างปัญหา และสร้างดราม่า จำพวกที่ว่า “รู้นะว่าอ่านแล้ว ทำไมไม่ตอบ” ดังนั้นถ้าไม่มีเวลาจะตอบคนสำคัญของคุณ อย่าเพิ่งกดเข้าไปอ่าน เพราะจะทำให้อีกฝ่ายยิ่งหงุดหงิดผิดหวัง ขอให้ใช้ notification หรือการแจ้งเตือนหน้าจอให้เป็นประโยชน์ เลื่อนอ่านแค่ตรงนั้นก็พอ
– LINE เลือกพิกัดส่งได้
อีกข้อที่ต้องทราบคือการส่งพิกัดสถานที่ใน LINE ไม่ได้เป็นตัวยืนยันสถานที่อยู่ของผู้ส่งแต่อย่างใด เพราะสามารถเลื่อนแผนที่ไปที่ไหนก็ได้ ความสามารถนี้จึงเน้นที่การส่งสถานที่อื่นๆ หรือส่งแผนที่ให้คนอื่น แตกต่างไปจาก Whatsapp ที่ใช้ตอบคำถามยืนยันว่าบุคคลนั้นอยู่ที่ไหน
– “Empty Room”
ข้อความนี้ ถ้าขึ้นมาในกล่องไหน ก็แปลว่า อีกฝ่ายลบตัวเองออกไปจากห้องสนทนานั้นแล้ว

2. ระวังส่งผิดคำ-ผิดคน
ปัญหาใหญ่ของแอพฯ แชตบนมือถือ คือหน้าจอคล้ายๆ กันจนหลงลืมดูว่ากำลังส่งข้อความไปให้ถูกคนหรือไม่ หรืออาจจะด้วยความสนุกติดพันมันส์มือจึงด่วนกด “ส่ง” โดยอัตโนมัติ ทำให้เกิดกรณีการส่งคำผิดที่บางทีสร้างปัญหาให้กับผู้ส่ง แต่ทั้งสิ้นทั้งปวง ก็ยังไม่เท่าส่งผิดกล่อง เพราะคุณอาจจะส่งข้อความบอกรัก หรือรูปลับเฉพาะไปยังกลุ่มของที่ทำงาน อาจถูกล้อไปตลอดชีวิต หรือถ้าพลาดส่งข้อความนินทาเจ้านายเข้าไปหาเจ้านายเอง นี่ก็หวิดดับอนาคตกันเลย
วิธีแก้ปัญหานี้คือการเปลี่ยนภาพพื้นหลังในแต่ละกล่องให้โดดเด่นและแตกต่าง โดยเข้าไปในห้องกล่องแชตนั้น แล้วกดเลือกตั้งค่า จะมีตัวเลือกให้เปลี่ยน Wallpaper ของห้องนั้นๆ ได้

3. ลบ-หาย
ข้อความ
LINE เก็บข้อความคุยไว้ในเครื่องของคุณ ตราบเท่าที่ยังไม่ลบแชต หรือลบแอพฯ ถ้าบางคราวที่พื้นที่เริ่มเต็ม หรืออยากจะเคลียร์พื้นที่ให้สะอาดตา LINE ก็มีทางเลือกให้ ส่งออก หรือ Export ข้อความบทสนทนาในกล่องนั้น ๆ ออกมาเป็น Text ได้ ซึ่งจะเลือกส่งเข้าอีเมล์หรือทางอื่นๆ ก็ได้

รูป-คลิป
แม้ข้อความยังอยู่ แต่ LINE ไม่เก็บรูปภาพไว้ให้นะครับ เพราะมันหนักเครื่อง เมื่อถึงเวลาหนึ่ง LINE จะลบรูปที่ส่งกันนั้นออกไป ทั้งจากในแอพฯ LINE และจากเครื่องเซิร์ฟเวอร์แม่ข่ายของ LINE ในญี่ปุ่น แต่ก็มีทางออกให้นะครับ โดยการใช้ความสามารถ “อัลบั้ม” Albums ในแต่ละห้อง เพื่อบันทึกรูปที่ต้องการเก็บจริง ๆ ไว้ ซึ่งทาง LINE ก็จะเก็บไว้ให้คุณตราบเท่าที่ห้องแชตนั้นยังอยู่ ส่วนวิดีโอยังทำแบบนี้ไม่ได้ ถ้าอยากเก็บต้องบันทึกเข้าเครื่องไว้เองครับ

4. รบกวน ? รำคาญ ?
กลุ่ม LINE ที่มีคนเข้าไปคุยกันเป็นร้อย พูดคนละคำก็เป็นร้อยข้อความแล้ว แน่นอนว่าบางทีก็รบกวนคุณ ซึ่งทาง LINE ก็เปิดให้ปิดการเตือนไว้ได้ โดยที่ไม่ต้องเอาตัวออกมาจากกลุ่ม แล้วค่อยไปตามอ่านตอนมีเวลาเหมาะสม แต่ทั้งนี้ ถ้าเป็นกลุ่มสำคัญ ควรจะตั้งกติการ่วมกันก่อนว่า กลุ่มนี้มีไว้ส่งเรื่องสำคัญเท่านั้น และห้ามทุกคนปิดเสียง

5. ใช้โน้ตให้เป็นประโยชน์
การคุยกันไปเรื่อยๆ ถ้าจะต้องย้อนกลับมาอ่านเรื่องสำคัญอาจจะยาก แนะนำให้เขียนหรือเพิ่มข้อความสำคัญนั้นไว้ใน Notes หรือบันทึกข้อความ จะดีกว่า เพราะคนที่ไม่ได้เปิดอ่านเวลานั้น ตามเข้ามาดู หรือคุยผ่านไปนานแล้ว ก็ยังสามารถไปตรวจสอบเรื่องสำคัญได้โดยไม่ต้องเลื่อนหาแชตให้เหนื่อย
นอกจากนั้น LINE ยังมีเกร็ดเล็กน้อยที่น่าสนใจ ซึ่งหากได้ลองใช้จะเป็นประโยชน์มาก เช่น การบันทึกภาพจากห้องแชตทีละหลายๆ ภาพพร้อมกัน สามารถทำได้เพียงแค่กดดูมุมมองแบบหลายภาพ แล้วกดบันทึก ซึ่งจะสามารถเลือกบันทึกหลายๆ ภาพได้ทันที หรือใน LINE รุ่นใหม่จะมีเสียงเตือนใหม่ที่น่ารักมาให้เลือกใช้กันเพิ่มขึ้น
LINE เป็นแอพฯ หนึ่งที่คนไทยนำมาใช้ในชีวิตประจำวันกันอย่างมาก ซึ่งหากรู้จักหยิบใช้งานความสามารถต่างๆ ได้เหมาะสม ก็จะช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นมากครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here