ไมโครซอฟท์ AI พลิกเกมธุรกิจไทย ต่อยอดศักยภาพคนไทยด้วยนวัตกรรมอัจฉริยะที่เชื่อถือได้

  • ดึงพันธมิตร เซอร์ทิส ร่วมเผยแนวทางการประยุกต์ใช้ AI เพิ่มมิติใหม่ให้อุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน ภายใต้ความร่วมมือกับซีพีเอฟและ PTT ExpresSo
  • แม้มีคนไทยเพียง 0.13% เท่านั้นที่ทำงานด้านไอที แต่ไมโครซอฟท์ยังเชื่อมั่นว่าอีก 99% ก็สามารถปั้นเทคโนโลยีเพื่อการใช้งานจริงด้วยตนเองบน Power Platform

ไมโครซอฟท์ชูแนวคิดการใช้นวัตกรรม AI ตีโจทย์ใหญ่ใน 4 ด้านหลัก เพื่อยกระดับธุรกิจ พลิกเกมให้องค์กรไทยเดินหน้าแบบก้าวกระโดด พร้อมเผยเรื่องราวความสำเร็จและเทคโนโลยีสำหรับภาคธุรกิจมากมาย จากพันธมิตรและลูกค้าของไมโครซอฟท์ทั่วไทย ใน Microsoft Envision Summit 2019 งานสัมมนาใหญ่ประจำปีของไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ที่มีผู้สนใจเข้าร่วมงานอย่างท่วมท้นกว่า 2,000 คน

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “ภาคธุรกิจของประเทศไทยได้แสดงออกถึงความสนใจในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ มาโดยตลอด และในรอบปีที่ผ่านมา เราก็ได้เห็นแนวโน้มที่เด่นชัดยิ่งขึ้นในด้านของการเฟ้นหาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเทคโนโลยี AI ที่ถูกนำมาจัดการกับความท้าทายในการทำงานได้อย่างเหมาะสม มีทิศทางที่ชัดเจนในการผสมผสานนวัตกรรมต่างๆ ให้เข้ากับรูปแบบและระบบงานของพนักงาน รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้อย่างลงตัวมากยิ่งขึ้น โดยคำนึงถึงจุดมุ่งหมายหลักของธุรกิจเป็นสำคัญ ไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความล้ำสมัยของตัวเทคโนโลยีที่นำมาใช้”

4 มิติสำคัญ หนุนธุรกิจให้พลิกเกมด้วย AI

ไมโครซอฟท์ได้แบ่งแนวทางการประยุกต์ใช้ AI เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจออกเป็น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

  • Engage – เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
  • Innovate – สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ
  • Work – พลิกรูปแบบการทำงาน เพื่อประสิทธิภาพที่เหนือกว่า
  • Solve – เอาชนะอุปสรรค แก้ไขปัญหาในสังคม

“ในด้านของการ Engage หรือเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย เทคโนโลยีไม่ได้เข้าไปมีบทบาทแต่ในด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงการตลาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของการสื่อสารและประสานงานในทุกระดับ” นายธนวัฒน์เสริม “เช่นในกรณีของ Microsoft Teams แอปพลิเคชันที่เป็นศูนย์กลางสำหรับการทำงานเป็นทีมในยุคดิจิทัล ซึ่งยังคงมีการเพิ่มคุณสมบัติด้าน AI ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่นล่าสุดกับ Content Camera ที่ช่วยให้การประชุมผ่านวิดีโอยิ่งสะดวกและเป็นธรรมชาติมากขึ้น สามารถแยกแยะลายเส้นและตัวอักษรที่เขียนบนกระดานไวท์บอร์ดด้านหลังผู้พรีเซนต์หรือเข้าร่วมประชุม เพื่อดึงออกมาเป็นภาพซ้อนบนหน้าจอให้อ่านง่าย ไม่ต้องกังวลว่าผู้เขียนกระดานจะขยับตัวมาบดบังเนื้อหาบนกระดาน หรือ Live Captions ซึ่งจะเปิดให้บริการในภาษาอังกฤษในช่วงสิ้นปีนี้ เพื่อถ่ายทอดเสียงพูดของผู้เข้าประชุมออกมาเป็นข้อความบรรยายบนหน้าจอแบบสดๆ”

พาร์ทเนอร์-ลูกค้า ร่วมตอกย้ำศักยภาพของ AI ผลักดันนวัตกรรมที่เติมเต็มธุรกิจทุกแง่มุม

ในโอกาสนี้ ไมโครซอฟท์ได้เชิญพันธมิตรอย่าง เซอร์ทิส (Sertis) บริษัทให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลโซลูชั่นชั้นนำ ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบ AI และการจัดการข้อมูล มาร่วมแชร์ประสบการณ์และเรื่องราวการนำแพลตฟอร์ม AI ของไมโครซอฟท์มาตอบโจทย์ทางธุรกิจในด้าน Innovate และ Work ทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน

นายธัชกรณ์ วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเซอร์ทิส กล่าวว่า “จุดมุ่งหมายสูงสุดของเซอร์ทิส คือการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดอย่างแท้จริง เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับการทำงานของลูกค้า และไมโครซอฟท์ก็นับเป็นพันธมิตรรายสำคัญของเรา ด้วยแพลตฟอร์มระดับโลกทั้งในด้าน AI คลาวด์ และข้อมูล ที่พร้อมรองรับการพัฒนาต่อยอดให้ตอบโจทย์ของภาคธุรกิจอย่างสมบูรณ์ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนาโซลูชั่น AI ที่ช่วยให้ลูกค้าของเราอย่างซีพีเอฟและ PTT ExpresSo สามารถเติมเต็มความต้องการที่แตกต่างกันไปในอุตสาหกรรมของตนเอง เสริมศักยภาพการทำงานในปัจจุบัน และเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ในอนาคต”

นายเรวัติ หทัยสัตยพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสัตว์บก ซีพีเอฟ ได้กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างซีพีเอฟและเซอร์ทิสบนแพลตฟอร์มของไมโครซอฟท์ว่า “ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับเซอร์ทิสในการริเริ่มและพัฒนาโครงการ CPF AI FarmLab Powered by Sertis เพื่อนำนวัตกรรม AI และ Computer Vision (การแยกแยะและวิเคราะห์ข้อมูลจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว) มาพัฒนาระบบบริหารและจัดการฟาร์ม โดยเริ่มต้นจากระบบป้องกันโรคและติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานในฟาร์มปศุสัตว์ ในรูปของการวิเคราะห์ภาพจากกล้องวงจรปิดเพื่อแจ้งเตือนกรณีมีพนักงานเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามที่ไม่ได้รับอนุญาต พร้อมเก็บสถิติย้อนหลังโดยละเอียด เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพิ่มขึ้น และตอบสนองต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที เพื่อลดความเสี่ยงที่สัตว์ในฟาร์มจะได้รับเชื้อจากแหล่งภายนอก”

ส่วนนายธันว์ เหลียงไพบูลย์ Venture Lead จาก PTT ExpresSo ทีมนักพัฒนาเทคโนโลยีจาก ปตท. ที่มุ่งขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงเพื่อผู้คนและสังคม เสริมอีกว่า “โครงการ Smart Energy Platform by ExpresSo x Sertis ถือกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจที่จะส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีบล็อกเชนและ AI มาประยุกต์ใช้กับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อให้สามารถทราบถึงกำลังการผลิตและการใช้งานพลังงานไฟฟ้าในอาคารต่างๆ ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานเพื่อคาดการณ์แนวโน้มความต้องการในอนาคต นอกจากนี้ แพลตฟอร์มของเรายังใช้บล็อกเชนมาเป็นพื้นฐานของระบบการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าที่เหลือใช้จากระบบโซลาร์รูฟท็อป ให้อาคารอื่นๆ ได้นำไปใช้งานตามความต้องการอีกด้วย”

AI หนุนนักคิดไทย จากพื้นฐานของปัญญาประดิษฐ์ สู่ยุคแห่งการ “ประดิษฐ์ปัญญา”

นอกจากการขับเคลื่อนประสิทธิภาพและความสำเร็จในกลุ่มองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว แพลตฟอร์ม AI และคลาวด์ของไมโครซอฟท์ยังมีบทบาทสำคัญในการสานฝันของสตาร์ทอัพและนักพัฒนาอิสระให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่ใช้งานได้จริง เติมเต็มมิติของการ Solve สร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้และสังคมในภาพรวมอย่างเป็นรูปธรรม

แอปพลิเคชันฝีมือสตาร์ทอัพไทยอย่าง PharmaSafe ที่พัฒนาขึ้นให้เป็นเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาเป็นประจำ ได้ใช้แพลตฟอร์ม AI ของไมโครซอฟท์ในการสร้างระบบ AI ที่สามารถระบุชนิดและคุณสมบัติของยาได้จากภาพถ่าย เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการรับประทานยาผิดประเภท ส่วน Easy Rice ก็ได้พัฒนาเครื่องตรวจวัดคุณภาพข้าวด้วย AI โดยใช้กล้องบันทึกภาพเมล็ดข้าวที่ผ่านเข้าสู่ตัวเครื่อง สามารถตรวจสอบและให้คะแนนคุณภาพเมล็ดข้าวได้ถึง 1,200 เมล็ดในเวลาเพียง 10 นาที แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงหากตรวจสอบด้วยสายตามนุษย์ ขณะที่ Tiny Epic Brains เปิดมิติใหม่ของการใช้ QR code บนหน้าจอโทรทัศน์หรือในคอนเทนต์วิดีโอ ด้วย Video QR เทคโนโลยี deep learning ที่ฝัง QR code ไว้ในภาพวิดีโอได้โดยที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ไม่ขวางภาพบนหน้าจอ แต่ยังคงสแกนได้ผ่านสมาร์ทโฟน

“ตัวอย่างความสำเร็จของนักคิด นักพัฒนาทั้งหมดนี้ กับการใช้ AI ที่แพร่หลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของทักษะเชิงดิจิทัล ซึ่งยังคงต้องพัฒนาต่อไปอีกไม่น้อยในบ้านเรา เพราะในปัจจุบัน มีคนไทยเพียง 0.13% เท่านั้นที่ทำงานอยู่ในสายไอที ไมโครซอฟท์เองยังคงผลักดันให้เกิดการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลในทุกระดับอย่างทั่วถึง นับตั้งแต่การเรียนรู้ทักษะด้านโค้ดดิ้งสำหรับเยาวชนผ่านกิจกรรมและโครงการมากมาย ไปจนถึงการสร้าง Power Platform ให้คนทำงานทั่วไปได้ลงมือพัฒนาแอปพลิเคชันและเครื่องมือสนับสนุนการทำงานด้วยตนเอง แม้จะไม่ได้มีประสบการณ์การเขียนโปรแกรมมาก่อน หรือล่าสุดกับความร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พร้อมด้วยมหาวิทยาลัย 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรคุณภาพและยกระดับมาตรฐานงานวิจัยในประเทศไทย เพราะเราเชื่อมั่นว่าด้วยเทคโนโลยีและแนวคิดที่สอดคล้องกัน คนไทยอีก 99% ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นนักพัฒนาในแบบที่เราเรียกว่า ‘Citizen Developers’ พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าจากการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ สู่การเป็นผู้ ‘ประดิษฐ์ปัญญา’ ได้อีกด้วย” นายธนวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวล่าสุดของไมโครซอฟท์ในประเทศไทยได้ที่ http://news.microsoft.com/th-th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://aka.ms/ContactMSFTTH