รีวิว Lenovo Yoga Book สมุดโน๊ตในร่างแท็บเล็ต บางเบาที่สุดในสามโลก !!

จะเรียกว่ารีวิวก็ยังไงอยู่ น่าจะเรียกว่า “รีวิวเฉพาะกิจ” ดีกว่า เนื่องจากผมมีเวลาใช้งานเจ้า Lenovo Yoga Book ตัวนี้แค่วันเดียวเท่านั้น (เอาจริง ๆ ครึ่งวัน – -) พอดีมันเป็นเครื่องโชว์ในงานแถลงข่าว Commart Work 2016 เสร็จงานคือต้องรีบคืนเลย แต่ก่อนงาน ผมได้ฉกมันมาใช้งานที่บ้านก่อนหนึ่งคืนแล้ว ฮ่า ฮ่า ทว่าด้วยเวลาที่จำกัด ทำให้ผมไม่ได้ทดสอบในด้านสเปกมากนัก ดังนั้นจึงขอหนักไปทาง “การใช้งาน” แทน มาดูกันครับว่า เจ้า Yoga Book จะมีความน่าสนใจยังไงบ้าง

yogobook

This is a Book !! เมื่อช่วงวันแรกของเดือนกันยายน ทาง Lenovo ได้เปิดตัวของแปลกหนึ่งอย่างคือ “Yoga Book” เป็นโน๊ตบุ๊คหรือแท็บเล็ตสองหน้าจอ ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “Create Pad” ที่สามารถใช้งานสร้างสรรค์งานเขียน หรือใช้เป็นสมุดจดงานได้จริง ๆ (เขียนเป็นหมึกลงกระดาษเลยนะเออ) มาในร่างของโน็ตบุ๊ต และระบบปฏิบัติที่เลือกซื้อได้ระหว่าง Windows 10 หรือ Android 6.0 ส่วนฟีเจอร์เด่น ๆ มีดังนี้

  • ขนาดเบาบางที่สุดในสามโลก
  • มีสองหน้าจอ ที่ใช้งานแบบสัมผัสได้ 2 จอในตัวเดียว
  • มาพร้อม “Halo Keyboard” หรือแป้นพิมพ์ Touch Screen !!
  • แถมปากกา “The Real Pen” ที่รองรับแรงกดได้ถึง 2,048 ระดับ
  • สามารถเขียนทะลุชั้นกระดาษ ไปแสดงผลการขีดเขียดในหน้าจออีกฝั่งได้

ในบางฟีเจอร์ หลายคนอาจสงสัยว่า “คือยังไง” ในรีวิวครั้งนี้ ผมได้ไขความกระจางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว มาดูกันครับว่า แต่ล่ะฟีเจอร์ จะมีความพิศวงอย่างไรบ้าง

11_yoga_book_handwriting_digitized_portrait_w_paper

สเปค Lenovo Yoga Book (รายละเอียดเพิ่มเติม)

CPU : Intel Atom x5-Z8550 (2M Cache, Quad-Core, Up to 2.4 GHz)
RAM : 4GB LPDDR3
ROM : 64 GB (ใส่ SD Crad ได้สูงสุด 128 GB)
Display : 10.1″ FHD 1080p IPS 224 ppi (1920 x 1200)
Sound : Dolby Atmos
Touch : Capacitive Touch ใช้กับปากกา EMR Pen Technology (The Real Pen detects 2,048 levels)
Sensors : Vibrator, G-Sensor, Ambient Light Sensor, Hall Sensor, GPS, A-GPS
Front Camera : 2 ล้านพิกเซล
Rear Camera : 8 ล้านพิกเซล
SIM : รองรับ Nano SIM Card
Connections : Micro HDMI x 1, Micro USB x 1, Jack 3.5 mm x 1, SD Card reader x 1, SIM Slot x 1
Network : 3G/4G LTE กับ WiFi 802.11 a/b/g/n/ac;
OS : Windows 10 (หรือเลือกซื้อเป็นรุ่น Android 6.0)
Battery : 8500 mAh (เคลมว่าใช้งานได้ 15 ชั่วโมง)
Dimensions : 10.1″ x 0.38″ x 6.72″
Weight : 690 g
Colors : Champagne Gold, Gunmetal Grey, Carbon Black (ทอง เทา และเฉพาะ Windows จะเป็นเครื่องสีดำ)

แกะกล่อง

dsc_0056

ในกล่องประกอบไปด้วย 

  • ตัวเครื่อง Yoga Book x 1
  • ปากกา Real Pen x 1
  • ไส้ปากกา (แบบมีหมึกจริง ๆ) x 3
  • สมุดจด Book Pad จำนวน 20 หน้า x 1
  • ชุด Adapter ชาร์จไฟ x 1
  • ผ้าเช็ดจอ (อย่างดี) x 1
  • ชุดคู่มือ x 1
  • เข็มแกะถาด SIM x 1

วัสดุและดีไซน์

dsc_0173

ได้ยินมาว่าตัวเครื่องมีขนาดจอแค่ 10 นิ้ว ก็พอนึกไว้แล้วว่าต้องจิ๋วเหมือนเจ้า Miix 310 แน่ ๆ แต่พอมาจับจริง ๆ แล้ว มันเล็กกว่าที่คิดซะอีก คงเป็นเพราะขนาดความบางของมัน ที่บางจนไม่รู้ว่าจะบางยังไง ทำให้มันดูเล็กจิ๋วไปทันตานี้เอง

dsc_0064

ขนาดตัวเครื่องอยู่ที่ 10.1″ x 0.38″ x 6.72″ หนักแค่ 690 g นี้ก็เบาจนไม่รู้ว่าจะเบายังไงเหมือนกัน ส่วนการออกแบบตัวเครื่อง ยอมรับเลยว่า สวยมากกก (แถวบ้านเรียก “เท่”) วัสดุที่ใช้เป็น Magnesium กับ Aluminum ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและหรูหราเข้าไปอีก งานประกอบโดยรวมจัดว่าแจ่ม

dsc_0072

แต่ด้วยความบางของมัน ก็บอกลาช่อง USB ไปได้เลย ตัวเครื่องจึงมีแค่พอร์ตเชื่อมต่อ Micro USB x 1 กับ Micro HDMI x 1 และถาดใส่ SIM กับ SD Card อย่างละตัวเท่านั้น ส่วนรูจุด ๆ ตรงนั้นคือลำโพงครับ

dsc_0078

อีกฝั่งก็มีลำโพงเช่นกัน ที่เหลือก็ปุ่ม Power กับปุ่มปรับระดับเสียง และช่องเสียบหูฟัง 3.5 mm (นึกน่าจะโดนเจือนไปพร้อมความบางเหมือนค่าย “สาลี่” ซะแล้ว…..)

dsc_0073

เมื่อพับหน้าจอ ตัวเครื่องจะมีความบางอยู่ที่ 9.6 mm

yoga-2

แต่เมื่อกางออก ตัวเครื่องก็จะเหลือความบางแค่ 4.05 mm เท่านั้น O_O

dsc_0086

ลองเทียบกับขนาดหนังสือ (หากใครรู้สึกคุ้น ๆ โปรดอย่าเนียนนะครับ เหอ ๆ)

เทียบความบางกับหนังสือ และ นิตยสาร Comtoday หน่อย

dsc_0088

เทียบกับสมุดจด (น่าเอาสูตรคูณไปแปะด้านหลังเครื่องจริง ๆ)

dsc_0067

ในส่วนบานพับ ก็มาในสไตล์ Yoga หรือสายนาฬิกาที่เราคุ้นเคย สามารถพบได้ 360 องศา และช่วยเพิ่มความแข็งแรงกับความหรูหราได้มากทีเดียว (สำหรับผม มันให้อารมณ์เหมือนสันเกลียวในสมุดจดยังไงยังงั้น)

dsc_0093

Open !!

dsc_0094

มาถึง ก็ขอดูส่วนที่คาใจก่อนเลยคือ “Halo Keyboard” หรือแป้นพิมพ์ Touch Screen พบว่า มันมีการสลักช่อง LED แป้นพิมพ์ภาษา Eng ไว้เรียบร้อยโรงเรียนจีน เป็นอันว่า บอกลาแป้นพิมพ์ภาษาไทยได้เลยครับ…..

**เว้นแต่จะมีรุ่นแป้นพิมพ์ Thai Edition ขายในไทยโดยเฉพาะ หรือมีวิธิติดสติ๊กเกอร์แป้นพิมพ์ภาษาไทยที่เข้าท่า**

การใช้งาน

dsc_0098

โฉมหน้า “Halo Keyboard” แบบชัด ๆ !!

dsc_0111

เทสสิครับ !! รออะไร เมื่อลองสัมผัสการพิมพ์ Halo Keyboard ดูแล้ว ก็ขอบอกเลยว่า “เกือบดีล่ะ” เวลาพิมพ์ ตัวเครื่องมันจะสั่นและส่งเสียงตอบสนองต่อการพิมพ์ของเรา แต่ด้วยขนาดจอเพียง 10 นิ้ว ก็ทำให้ตัวคีย์บอร์ดมีขนาดเล็กตามไปด้วย การพิมพ์จึงเหมือนการจิ้ม เลยใช้สเต็ป มือซ้ายปุ่ม A S D F มือขวาปุ่ม J K L : ได้ลำบากหน่อย ต้องอาศัยความเคยชินสักพักหนึ่ง ถึงจะเริ่มคล่องจริง ๆ ครับ แต่ถึงจะคล่อง ก็ต้องพิมพ์สัมผัสไทยเท่านั้น เพราะตัวแป้นไม่มีคีย์ไทยมาให้ แต่ถ้าเคยชินกับพิมพ์สัมผัสไทยมาแล้ว ก็รอดตัวไป ส่วนตัว Touch Pad ผมหลุดสัมผัสไปหลายรอบล่ะ : D

dsc_0114

มาถึงส่วนขีดเขียนกันแล้ว ในตัวแป้นพิมพ์ มันจะมีปุ่มสลับการใช้งานระหว่าง Halo Keyboard และ Real Paper อยู่มุมขวามือ (รูปปากกา) เมื่อกดแล้ว ก็จะเข้าสู่โหมดขีดเขียนทันที

dsc_0117

สัมผัสการเขียน เมื่อลองเทียบกับเมาส์ปากกา หรือเจ้า Intuos Pro ที่บ้าน (ฝุ่นเกาะตรึม – -) ตัว Yoga Book ให้ความรู้สึกได้ดีไม่แพ้กัน แต่ก็มีจุดด้อยกว่าอยู่บ้างคือ การแลเงาและการลงน้ำหนักที่ยังดีไม่สุด แต่โดยรวมพอใช้แทนกันได้ครับ เกือบลืมบอก หน้าจอด้านล่างนี้ใช้ได้กับเฉพาะปากกา Real Pen เท่านั้น

dsc_0125

สำหรับตัวปากกา Real Pen นั้น จะไม่มีแบตฯ ในตัว รองรับแรงกดได้ถึง 2,048 ระดับ กับเอียงมุมสูงสุด 100 องศา และสามารถเปลี่ยนไส้ปากกาได้ ซึ่งในกล่องก็แถมไส้แบบมีหมึกปากกาให้ด้วยเลย ส่วนจะใช้ทำอะไรนั้น เดี๋ยวก็รู้ครับ

dsc_0144

ทดสอบการลงเส้นและแลเงา (ทักษะการวาดผมได้เท่านี้ล่ะครับ T T)

dsc_0142

ในหน้าจอ Display จะเป็นจอสัมผัส Capacitive Touch เช่นเดียวกับอีกหน้าจอ ข่าวดีคือ เราสามารถใช้ปากกาขีดเขียนบนหน้าจอได้ด้วย แต่ Feeling การเขียนนั้น จะผิดกับหน้าจอคีย์บอร์ด หรือ Real Peper อยู่เยอะ มีการตอบสนองช้ากว่า และไม่สามารถเอามือรองแล้วเขียนได้ (เวลาอุ้งมือไปโดน มันก็ตอบสนองด้วย – -) สรุปเอาไว้ใช้จิ้มเครื่องมือ หรือใช้งานแทนเมาส์ดีกว่า

dsc_0119

เทียบปากกา Real Pen ของ Yoga Book (ล่าง) กับ ปากกา Wacom Intuos Pro (บน)

dsc_0137

สำหรับคำถาม เอาไส้ปากกาแบบมีหมึกไปทำอะไร คำตอบคือ เอาไว้ใช้กับสมุดหรือกระดาษอะไรก็ได้ ให้เราสามารถขีดเขียนข้อความลงเจ้า Yoga Book ตัวนี้ได้โดยตรงนั้นเอง ซึ่งในกล่องก็แถมตัวสมุดโน็ตแบบฉีกมาให้ด้วย โดยตัวสมุดจะมีแม่เหล็กยึดกับตัวเครื่อง

dsc_0140

ทีนี้ล่ะครับ เราก็จะได้ Feeling การเขียนบนกระดาษจริง ๆ สากจริง ๆ และมีหมึกปรากฎในหน้ากระดาษจริง ๆ ซึ่งตัว Real Pen สามารถเปลี่ยนไปใช้ไส้แบบมีหมึกได้ด้วย (แต่อนิจจา ผมเปลี่ยนไม่เป็น – -) เวลาขีดเขียนอะไรในกระดาษ ที่วางบนหน้าจอ Real Peper หน้าจออีกฝั่งก็จะแสดงผมตามที่เราเขียนแปะ ๆ เลยครับ

dsc_0141

ทดสอบการเขียนบนกระดาษจริง (แบบไม่มีหมึก….)

dsc_0185

คำถาม เราสามารถเอาสมุดหรือกระดาษอื่นมาใช้แทนได้ไหม ? คำตอบคือ ได้ครับ และทั้งนี้ตัว Yoga Book สามารถรองรับความหนาของกระดาษได้ถึง 1.5 ซม. ประมาณเอาหนังสือแบบเรียนหนึ่งเล่มมาวางทับ และเขียนได้เลย (หนากว่านั้นสัญญาณจะเริ่มขาด ๆ หาย ๆ) แต่มีข้อแม้ว่า ต้องใช้ปากกา Real Pen ที่แถมมาเท่านั้น

ประสิทธิภาพ

dsc_0147

อย่างที่บอกไปตอนแรก ผมมีเวลาใช้งานเพียง 1 วัน เลยทำให้ผมแทบไม่ได้ยุ่งในส่วนนี้เลย แต่กระนั้นก็ได้พยายามลองเทสประสิทธิภาพฉบับบ้าน ๆ อย่างหนึ่งคือ ใช้ Chrome เปิดเว็บหลาย ๆ แท็บ พร้อมกัน ผลคือ ยังลื่นอยู่ แม้จะมีการเปิดเว็บมากมาย แต่ตัว Yoga Book ก็ยังไม่ค้างหรือช้าแต่อย่างใด (แต่ก็มีเอ๋อ ๆ อยู่บางครั้งเหมือนกัน) ทั้งนี้ผมลองไปแอบส่องผลเทสจากเว็บนอกมาแล้ว พบว่า มันมีประสิทธิภาพพอ ๆ กับ Surface 3

ส่วนระยะการใช้งาน Lenovo เคลมว่า แบตฯ ของ Yoga Book อยู่ได้นานถึง 13 ชั่วโมง จากการใช้งาน ก็พบว่า น่าจะอยู่ได้นานจริง ผมเทสเปิดเครื่องตั้งแต่ 9 ทุ่ม ยันตี 2 แบตฯ ยังเหลือประมาณ 70% จาก 90%

dsc_0148

ตัวพื้นที่เก็บข้อมูลของ Yoga Book จะเป็น NAND Fash Storage มีพื้นที่ให้ 64 GB

dsc_0127

หน้าจอความละเอียดระดับ Full HD (1,920 x 1,080) ในขนาดจอ 10 นิ้ว

สรุปภาพรวม รีวิว Lenovo Yoga Bookdsc_0160

หลังสัมผัสมันได้หนึ่งวัน (หรือครึ่งวัน) บอกเลยว่า ไม่อยากคืน อยากด้ายยยยยย เหตุผลที่อยากได้คือ “มันเท่” เรียกได้ว่า มันเป็นโน๊ตบุ๊คหรือแท็บเล็ตที่มีความเบาบางที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาเลย ทั้งดีไซต์กับวัสดุที่ใช้ จัดว่าดีงามมาก ๆ ส่วนประสบการณ์ใช้งาน หน้าจอ 10 นิ้ว แต่ความละเอียด 1080p ดีงามกว่าที่คิด ในส่วนคีย์บอร์ด ยังไม่ตอบสนองการพิมพ์สำหรับผมมากนัก คงต้องลองใช้งานจนชินก่อนถึงจะชอบ อีกเรื่องคือ แป้นพิมพ์ Eng ที่ดูแล้วคงหมดโอกาสหาสติ๊กเกอร์ภาษาไทยมาติดแน่นอน แต่พอให้อภัยได้ เพราะเวลาไปพิมพ์ให้คนอื่นเห็น รู้สึกเท่อย่างบอกไม่ถูก… ต่อมาคือ การขีดเขียน ส่วนนี้ผมให้คะแนน 8/10 อีกสองคือหักในเรื่องการแลเงาและลงเส้น ที่ยังต้องปรับปรุงอยู่หน่อย แต่นอกนั้น Feeling การเขียนแจ่มมาก และจดลื่นไหลดี

สุดท้ายนี้ อาจต้องหนักใจในสเปกตัวเครื่องอยู่บ้าง ที่เมื่อเทียบกับราคาแล้ว จัดว่าสูงไปนิด (ราคาและสเปก ก็พอ ๆ กับ Surface 3) โดยราคาของ Yoga Book สนนอยู่ที่ 549 เหรียญฯ หรือประมาณ 20,000 บาท สำหรับรุ่น Windows 10 และ 499 เหรียญฯ หรือประมาณ 18,000 บาท สำหรับรุ่น Android แต่ถ้าไม่เน้นใช้งานหนัก ๆ เอามาขีดเขียนอย่างเดียว ก็อีกเรื่องหนึ่งครับ

ข้อดี
  • เบาบางและสวยงามยิ่งนัก
  • งานประกอบดูแข็งแรงและหรูหรามาก
  • หน้าจอ 1080p
  • ให้สัมผัสการชีดเชียนได้ดี โดยเฉพาะเวลาเขียนบนกระดาษ
  • คีย์บอร์ด Halo Keyboard ดูสวยแปลกตาดี
  • แบตฯ อึด

ข้อสังเกต

  • พื้นที่ 64GB ยังน้อยไปนิด
  • คีย์บอร์ด Halo Keyboard ต้องใช้เวลาถึงจะพิมพ์คล่อง
  • ไม่มีแป้นพิมพ์ภาษาไทย
  • พื้นที่การขีดเขียนเล็กไปหน่อย (มีบางครั้ง อุ้งมือไปโดนปุ่มสลับแป้นพิมพ์ตอนวาด คีย์บอร์ดโผล่มาเฉย)
  • ไม่มี OTG USB แถมมาให้
  • ราคายังสูงไปนิดเมื่อเทียบกับสเปก

2 COMMENTS

  1. ถ้านำมาใช้งานกับ power point 200 slide เต็มไปด้วยรูป นี่ไหวไหมครับ

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here