เด็ก​ มทร.​ธัญบุรี​ จิตอาสาอยู่​ในสายเลือด

นักศึกษารางวัลชนะเลิศ โครงการคัดเลือกและยกย่องคนดี คนเก่ง มีจิตสาธารณะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

“ภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาต้นแบบรางวัลคนดี คนเก่ง มีจิตสาธารณะ มทร.ธัญบุรี ทุกอย่างที่ตนเองทำ ไม่ได้หวังผลของรางวัล แต่เป็นสิ่งที่ตนเองตั้งใจและเต็มใจที่จะทำเพื่อสังคม จะเป็นคนเก่งอย่างเดียวไม่ได้ ต้องเป็นคนดี และมีจิตที่จะทำเพื่อส่วนร่วมด้วย” แววตาอันมุ่งมั่น ของ “น้องเจ” นายศุภรัตน์ รัตนพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม เด็กหนุ่มมากความสามารถ หัวใจจิตอาสา นักศึกษารางวัลชนะเลิศ โครงการคัดเลือกและยกย่องคนดี คนเก่ง มีจิตสาธารณะของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี

เจ เล่าว่า เป็นลูกชายคนโตของบ้าน มีน้องชาย 1 คน กำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 เกิดที่จังหวัดสกลนคร อาศัยอยู่กับย่าจนถึง ป.2 เมื่อย่าเสียชีวิตจึงย้ายมาอยู่กับพ่อแม่ที่จังหวัดสระแก้ว โดยพ่อแม่ย้ายมาอยู่ที่สระแก้ว เพื่อมาประกอบอาชีพเกษตร ทำไร่มันสำปะหลังและข้าวโพด ซึ่งฐานะทางบ้านปานกลาง ครอบครัวของตนเองดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ ของรัชกาลที่ 9 ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ท่าน โดยเมื่อปี 2546 ตนเองเรียน ป.2 เป็นตัวแทนนักเรียนกล่าวรายงานต่อพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนบ้านหนองปลาตอง เมื่อครั้งพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ในโรงเรียนพื้นที่จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดสกลนคร “ผมยังจำได้และเป็นเกียรติกับครอบครัวของผม”

เมื่อย่าเสียตนเองจึงย้ายมาอยู่จังหวัดสระแก้ว เข้าเรียนที่ รร.บ้านซับเกษม ตอนชั้น ป.4 ตั้งใจเรียน ช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ของทางโรงเรียน หลังจากจบ ป.6 เข้าเรียนที่ รร.วังไพรวิทยาคม ทำกิจกรรมทุกอย่างไม่ว่าในด้านวิชาการและกิจกรรม เข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ เป็นตัวแทนโรงเรียนเข้าร่วมการรณรงค์และออกบูท โครงการต่อต้านยาเสพติด จังหวัดสระแก้ว เมื่อปี 2549 ได้รับ “รางวัลเด็กดีศรีสระแก้ว” สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระแก้ว เขต 1 หลังจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 3 อยากจะทำงานเพื่อหารายได้มาช่วยเหลือพ่อแม่ “อยากเปิดอู่ ติดตั้งเครื่องเสียงรถยนต์” จึงศึกษาหาข้อมูลแหล่งให้ความรู้ทางด้านนี้ จึงไม่ศึกษาต่อและตัดสินใจ เข้าอบรมและหาความรู้จาก ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดสระแก้ว แต่เมื่อเข้าอบรมทางศูนย์ไม่ได้เปิดสอนทางด้านนี้ จึงเปลี่ยนไปศึกษาด้านงานเชื่อมแทน

ระยะเวลา 2 ปี สำเร็จหลักสูตรวิชาชีพทางด้านงานเชื่อม โดยท่านอาจารย์ไพฑูรย์ จันบวร ซึ่งท่านเป็นอาจารย์ที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.สระแก้ว แนะนำให้เรียนต่อเพื่อฐานของเงินเดือนที่สูงกว่า บวกกับท่านย้ายมาทำงานที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดนครนายก ตนเองจึงตัดสินใจเรียนต่อในสาขาโลหะการ วิทยาลัยเทคนิคนครนายก โดยอาจารย์เป็นคนส่งเรียนและให้ที่พักกับตนเอง “อาจารย์เป็นผู้ที่มีพระคุณเป็นเหมือนพ่อของผมอีกคนหนึ่ง อาจารย์จะพาผมไปด้วยทุกครั้งเมื่อท่านเป็นวิทยากรพิเศษอบรมพนักงานตามสถานที่ต่างๆ อาจารย์เป็นคนสอนทฤษฎี ตัวของผมจะสอนปฏิบัติ” แบ่งค่าสอนให้ครั้งละ 3,000 บาท เป็นรายได้ระหว่างเรียน ซึ่งตนเองไม่ได้ขอเงินจากทางบ้าน เมื่อ ปี 2549 ได้รับ “รางวัลเพชรเมืองขุนด่าน จังหวัดนครนายก”  โดยคัดเลือกจากนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี พฤติกรรมเรียบร้อย

นอกจากนี้ระหว่างที่เรียน พยายามหาประสบการณ์และฝึกทักษะความรู้ด้านการเรียนอยู่ตลอด โดยเข้าร่วมการแข่งขันตามเวทีต่างๆ ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันทักษะวิชาชีพช่างเชื่อม จ.ระยอง รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันทักษะวิชาชีพช่างเชื่อม ระดับภาคกลาง เหรียญทอง การแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับภาค เหรียญเงิน การแข่งขันฝีมือแรงงาน ระดับประเทศ ปี 2557ชนะเลิศการแข่งขันทักษะ สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม World Skill ASEAN “Hanoi 2014” ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และเหรียญทองแดงการแข่งขันฝีมือแรงงานโลก ครั้งที่ 43 สาขาเทคโนโลยีงานเชื่อม (Welding) ณ สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 45 ประเทศทั่วโลก

จากประสบการณ์ความรู้จากการเรียน การประกวด ตลอดจนการทำงานต่างๆ ทางด้านทักษะงานเชื่อม อยากนำความรู้ที่มีไปถ่ายทอดให้กับบุคคลต่างๆ อยากทำงานในสายวิชาชีพครู (ครูช่าง) หลังเรียนจบในระดับ ปวช.จึงสอบเข้าที่ สาขาวิศวกรรมอุตสาหการ เอกเชื่อมประกอบ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ฝึกปฏิบัติตน เรื่องของวินัย ความรับผิดต่อตนเอง จึงอาศัยอยู่ที่วัดหว่านบุญ เป็นวัดที่อยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัย เวลา 05.00 น. ของทุกวัน ตื่นมาช่วยหลวงตาและหลวงพี่ออกบิณฑบาต ช่วยกวาดเก็บวัด และช่วยงานทุกอย่างที่วัด “ถ้าไม่มีกิจกรรม หลังจากเลิกเรียนตนเองจะกลับวัด ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสิ่งมั่วเมา เหล้า ยาเสพติด ตนเองจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ด้วยมีแบบอย่างที่ดี แบบอย่างที่ไม่ดี มีให้เห็น ผมจึงเลือกปฏิบัติตัว ทุกอย่างอยู่ที่ตัวของเรา” ซึ่งตนเองกู้ กยศ.เรียน เพื่อแบ่งเบาภาระทางบ้าน

ระหว่างที่เรียนนำสิ่งที่ตนเองถนัดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยเป็นวิทยากร สอนในเรื่องเชื่อม ตามสถานศึกษาต่างๆ เช่น วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ,สมุทรปราการ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช นำความรู้ไปใช้เพื่อสังคม ออกค่ายราชมงคลอาสาพัฒนาเฉลิมพระเกียรติ การดูแลในส่วนของโครงสร้างอาคารเรียนหลังที่ 46 โรงเรียนบ้านห้วยตาด ตำบลนาดอกคำ อำเภอนาด้วง จ.เลย ประธานค่าย อาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติหลังที่ 47,48 และ49 ให้กับศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) บ้านห้วยสลุง อ.แม่ระมาด จ.ตาก และอาคารเรียนหลังที่ 50,51 ณ สถาบันเทคโนโลยี กำปงสปือ อ.ทะปง จังหวัดกำปงสปือ ราชอาณาจักรกัมพูชา นำความรู้ที่ถนัดของตนเองไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ทำเพื่อส่วนรวม มากกว่าส่วนตัว “ในการออกค่ายอาสา ได้สร้างโรงเรียนให้กับน้องๆ ตามถิ่นทุรกันดารได้เรียนหนังสือ ได้ให้โอกาสทางด้านศึกษา เช่นเดียวกับตนเอง ที่ได้รับโอกาสทางการศึกษาจากอาจารย์ ที่คอยให้ความช่วยเหลือตนเองตลอดมา”

และทุกครั้งที่มีโอกาสจะพยายามนำความรู้และทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมให้มากที่สุด ช่วยกิจกรรมต่างๆ ของมหาวิทยาลัย เชื่อมอุปกรณ์ เช่น คาด ใช้ขุดลอกคลอง เชื่อมตะแกรงใส่ขยะ ในการใส่ถังคัดแยกขยะ กิจกรรมจิตอาสาต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย “เงินรางวัล 10,000 บาท ที่ได้จากการชนะเลิศโครงการคัดเลือกและยกย่องคนดี คนเก่ง มีจิตสาธารณะ มทร. ธัญบุรี ผมขอคืนให้กับทางมหาวิทยาลัย เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ผมเชื่อเสมอว่า การที่ทำเพื่อคนอื่น แล้วสิ่งที่เราทำนั่นจะส่งผลกลับมายังตัวเรา หรือถ้าสิ่งที่ทำนั่นจะไม่กลับมา แต่เมื่อทำให้คนอื่นมีความสุข นั่นคือความสุขสำหรับตัวเราแล้วครับ”

“อีก 2 ปี ผมจะสำเร็จการศึกษา ได้ทำงานที่ผมรัก ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ที่สะสมมา ให้กับนักเรียน นักศึกษา เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอด และผมจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักศึกษาต่อไป” น้องเจ กล่าวทิ้งท้าย