ย้อนรำลึกผลงานเด่นของ “สตีเฟน ฮอว์คิง” หลังเสียชีวิตอย่างสงบในวัย 76 ปี

Stephen William Hawking หรือ สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีเเละนักจักรวาลวิทยาชื่อดัง ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยจากไปอย่างสงบด้วยวัย 76 ปี ณ บ้านพักในเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

เป็นข่าวช็อคชั่วข้ามคืน หลัง Stephen William Hawking หรือ สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ทฤษฎีเเละนักจักรวาลวิทยาชื่อดัง ได้จากโลกอย่างสงบด้วยวัย 76 ปี ณ บ้านพักในเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของโลกกันเลย

สตีเฟน ฮอว์คิง เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2485 ณ เมืองอ๊อกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ก่อนเสียชีวิต เคยได้รับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัย และศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในวัย 21 ปี ฮอว์คิงถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรค Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ แม้กระทั้งการพูด (ภายหลังมีอุปกรณ์ช่วยพูดจาก Intel มาช่วย) แม้ร่างกายจะไม่อำนวยอย่างหนัก กระนั้นฮอว์คิงยังคงสร้างผลงานด้านวิชาการออกมามากมาย โดยเฉพาะงานเขียนดัง ๆ อย่าง

A Brief History of Time หรือประวัติย่อของกาลเวลา ว่าด้วยจักรวาลวิทยาแบบเน้น ๆ ต่อมาก็ The Universe in A Nutshell หรือจักรวาลในเปลือกนัท เป็นงานเขียนที่รวมเอาทฤษฎีวิทยาศาสตร์มากมาย อาทิ กำเนิดจักรวาล ทฤษฎีสตริง และหลุมดำ โดยเล่มนี้ได้เขียนเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้นและมีภาพประกอบ พอให้คนทั่วไปเข้าถึงได้

ภาพจาก : medium.com

อีกผลงานที่เรียกได้ว่าเป็นหน้าเป็นตาเลยคือ ทฤษฎีหลุมดำกับแนวคิด “รังสีฮอว์คิง” เป็นการแผ่รังสีของวัตถุดำที่ปล่อยออกมาจากหลุมดำอันเนื่องจากกรากฎการณ์ทางควอนตัม (อิงจาก wikipedia) ว่ากันว่าเป็นรังสีที่สามารถหนีจากหลุมดำได้ โดยฮอว์คิงเป็นผู้ค้นพบรังสีนี้ และมีความเชื่อดังกล่าวด้วย ปัจจุบันกำลังพิสูจน์อยู่ว่ามีจริงไหม

สุดท้ายคือ Properties of Expanding Universes งานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่ สตีเฟน ฮอว์คิง เขียนขึ้นในปี 1966 โดยงานวิทยานิพนธ์นี้ ทางมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้เปิดให้ทุกคนเข้าไปอ่านกันได้ฟรี ซึ่งตอนเปิดให้อ่านช่วงแรก ๆ ปรากฏว่ามียอดเปิดอ่านสูงถึง 60,000 ครั้ง ภายใน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยล่มไประยะหนึ่งกันเลย ส่วนใครที่สนใจ ก็ไปอ่านดูได้ที่ cudl.lib.cam.ac.uk 

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น จริง ๆ ยังมีอีกเยอะมาก (โดยเฉพาะเรื่อง AI ที่ฮอว์คิงเคยให้ความเห็นไว้น่าสนใจทีเดียว) ในที่นี้ก็คัดเอาที่ดัง ๆ บางส่วนมาให้ดูกันก่อน ให้พอรำลึกถึงสุดยอดอัจฉริยะของโลก ที่ไม่รู้ว่าจะมีอีกไหมครับ

ที่มา : The Guardian , wikipedia , cudl.lib.cam.ac.uk