ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีขับเคลื่อนบ้านอัจฉริยะ กว่าจะถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

สิ่งที่วงการไอทีตื่นเต้นกันในช่วงนี้ ไม่ใช่มือถือ แท็บเล็ต แอพฯ หรือบริการใหม่  ๆ หรือแม้แต่เจ้า VR และ AR แต่เป็นสิ่งที่เรียกว่า “เอไอ” (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ซึ่งเปรียบเสมือนกับการส่งเครื่องจักรไปเข้าโรงเรียน พยายามทำให้มันคิด พิจารณา วิเคราะห์ และตัดสินใจเองได้โดยไม่ต้องมีคนมาคอยสั่ง

ปัญญาประดิษฐ์

หลายคนบอกว่า เดี๋ยวนี้มันก็ฉลาดแล้วนะ ทำโน่นนี่ได้ตั้งหลายอย่าง แต่ถ้ามองย้อนไปถึงที่มา ความฉลาดของคอมพิวเตอร์ในทุกวันนี้ มาจากการที่คนมองไปข้างหน้า จินตนาการว่าจะเกิด “เงื่อนไข” หรือ “เหตุการณ์” อะไรขึ้นบ้าง จะให้คอมพิวเตอร์จัดการยังไง แล้วก็เขียนโปรแกรมสั่งงานไว้ก่อนล่วงหน้า

หลาย ๆ เกมที่เราเล่นกันทุกวันนี้ ก็ล้วนมาจากการที่มนุษย์คิดวางแนวทางไว้ให้หมดแล้ว ถ้าหากผู้เล่นกดปุ่มนี้ ให้คอมพิวเตอร์ตอบสนองยังไง ถ้าผู้เล่นเพลี่ยงพล้ำให้แกล้งแพ้บ้าง หรือถ้าผู้ใช้งานไม่ค่อยเข้ามาโพสต์ข้อความ ให้ส่งอีเมลมาแจ้งเตือนบ้างแต่ AI เป็นสิ่งที่ก้าวลงไปในน้ำที่ลึกกว่านั้น คือ ให้คอมพิวเตอร์คิดเองไปเลย โดยให้แนวทางคร่าว ๆ ไว้เท่านั้น

วิศวกรคอมพิวเตอร์ทั่วโลกกำลังมุ่งไปในถนนเส้นนี้ และผลผลิตของมันออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมบ้างแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยที่หลายคนไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะอยู่ใน Google เวลาค้นหาอย่างชาญฉลาด หรืออยู่ในแอพพลิเคชันต่าง ๆ หรือในอุปกรณ์ที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวทั้งหลาย

เมื่อมันฉลาดได้ระดับหนึ่งที่พอจะรับมือกับความหลากหลายของมนุษย์ได้บ้าง บริษัทยักษ์ใหญ่จึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งเป็นเหมือนหัวหอก หรือเสาเข็ม ที่จะทำให้มนุษยชาติหยั่งรากลึกลงสู่โลกแห่ง AI มากขึ้น นั่นคือ “ลำโพง”

ภาพจากเว็บไซต์ Amazon

Amazon Echo, Google Home, Siri Speaker หรืออะไรก็ตาม ที่กำลังออกมาในรูปแบบของ “ลำโพง” ขนาดเล็กให้ไปตั้งในบ้าน ทำหน้าที่รอรับฟังคำสั่งของมนุษย์ และดำเนินการตามคำสั่งเหล่านั้น

ดูเผิน ๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับมือถือสักเครื่องใช่ไหม ? แต่คุณคิดผิดแล้ว เจ้าลำโพง (ที่มีไมโครโฟนในตัว) นี่แหละ ที่จะทำให้บ้านทั้งหลังของคุณฉลาดขึ้นได้ (…อ่าแน่นอน ต้องอาศัยเงินของคุณด้วย… และไม่น้อยเหมือนกัน)

การสำรวจล่าสุดในสหรัฐฯ เชื่อว่า 1 ใน 4 ของบ้านทั่วสหรัฐฯ มีอุปกรณ์ทำให้บ้านฉลาดอย่างน้อย 1 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟที่ควบคุมด้วยแอพฯ ปลั๊กไฟ กลอนประตู หรือกล้องวงจรปิด แต่ที่น่าสนใจคือเกินครึ่งนั้นซื้อและครอบครองเจ้า “ลำโพงฉลาด” และแน่นอนว่า ลำโพงนั้นจะทำให้เกิดการติดตั้งอุปกรณ์อื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย

เพราะลำโพงที่เชื่อมต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ใหญ่นั้นเปรียบดังสมองของบ้าน แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ยังต้องพึ่งพาแขนขาและอวัยวะอื่น ซึ่งกระจายตัวในรูปแบบของอุปกรณ์หรือเซนเซอร์ตรวจวัดทั่วบ้าน

มองกลับมาที่ประเทศไทย อาจจะไม่เกินปี 2562 ที่เราจะเริ่มเห็นบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้พัฒนาซอฟต์แวร์ที่จะรองรับให้เราสั่งงานเป็นภาษาไทยได้

แน่นอนที่สุด วันนี้มันยังเป็นของประเภทที่ต้องมีเงินเหลือเท่านั้นถึงจะควรซื้อมาใช้ แต่มันจะไม่เป็นเช่นนั้นตลอดไปแน่นอน ไม่เชื่อก็ลองนึกย้อนไปถึงวันที่คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นของฟุ่มเฟือยสิ

เรียบเรียงโดย @YOWARE