AI มาแรง ฟีโบ้ ปั้นคน Robotics ผ่านแพลตฟอร์มห้องเรียนเสมือน

เร่งสร้างกำลังคนด้าน AI และ Robotics สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) เดินเครื่องสร้างคน และพัฒนาทักษะให้พร้อมโดยประยุกต์ใช้ AI และวิทยาการหุ่นยนต์ เพื่อใช้งานจริง อีกหนึ่งภารกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

ในไทยเรื่อง AI และ Robotics ถือเป็นเรื่องใหม่ ทั้งการควบคุมหรือขับเคลื่อน (Manipulation) ส่วนการรับรู้ (Perception) และส่วนการเข้าใจ (Cognition) ที่จำเป็นต้องใช้ AI หรือวิทยาการหุ่นยนต์ที่อยู่ในรูปแบบซอฟต์แวร์ ที่เปรียบเสมือนเป็นสมองช่วยตัดสินใจ หลังจากได้รับข้อมูลจากส่วนการรับรู้ของระบบที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ เช่น ระยะทาง แรง หรือขนาดของวัตถุที่ตรวจพบ เพื่อประมวลสั่งการให้ส่วนควบคุม

ในยุค Aging Society โลกเรากำลังจะมีหุ่นยนต์ส่วนตัว หรือ Personal Robot (PR) เข้ามาเพื่อจะคอยให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ AI เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้ระบบหุ่นยนต์สามารถทำงานตัดสินใจและตอบสนองงานที่ซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งในภารกิจด้านงานบริการ การสำรวจ การแพทย์ และด้านบันเทิง

2 ปีที่ผ่านมา ฟีโบ้ ได้สร้างแพลตฟอร์มและกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่อง AI/Robotics for All” ขึ้น เช่น Virtual Classroom for Learning ถ่ายทอดองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์ผ่านห้องเรียนเสมือน

Advanced Learning Lab / Resource Sharing เป็นแหล่งเรียนรู้และสามารถฝึกปฏิบัติด้านวิทยาการหุ่นยนต์และใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ ด้วยระบบการควบคุมระยะไกล

เช่น ระบบการเรียนรู้ระยะไกลสำหรับการพิมพ์ชิ้นงานสามมิติ (Tele 3D Printing) ที่มีโรงเรียนเข้าร่วมกว่า 40 แห่ง และโปรแกรมการจำลองการทำงานของโรงงานอัจฉริยะร่วมกับระบบจัดเรียงของระยะไกล (Metaverse Smart Factory) เป็นแพลตฟอร์มที่เปิดให้เข้ามาทดลองปฏิบัติ เพื่อประเมินระดับความรู้ความสามารถในการออกแบบ และเรียนรู้การควบคุมแขนกล การควบคุมสายพานการผลิต หรือที่เกี่ยวกับการผลิตต่าง ๆ จากระยะไกล

นอกจากนี้ ยังมี System Integration Demonstration ผ่านแพลตฟอร์มเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจ และการเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมสู่การนำไปใช้จริงเชิงพาณิชย์ School Consortium ที่มีโรงเรียนที่สนใจนำหลักสูตรวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติไปใช้เพิ่มขึ้นกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ รวมไปถึง Premium Training เพื่อพัฒนาบุคลากรทางด้านวิทยาการหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

โดยจากนี้ผลักดันแพลตฟอร์มพัฒนาขึ้นเข้าไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยจะเริ่มต้นจากกลุ่มโรงงานในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างนักวิจัย และนักพัฒนาระบบ AI และหุ่นยนต์ เพื่อป้อนสู่ตลาดแรงงาน รวมถึงสร้างนวัตกรรม AI และหุ่นยนต์ที่ใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ Facebook : fibokmutt