หัวเว่ย ไวร์เลส X Labs ตั้งกลุ่ม Connected Factory SIG เร่งค้นคว้า 5G เพื่อการผลิตอัจฉริยะ

หัวเว่ย ไวร์เลส X Labs จับมือพันธมิตรอุตสาหกรรม ตั้งกลุ่มที่มีความสนใจด้านโรงงานอัจฉริยะไร้สาย (Wireless Connected Factory Special Interest Group) ซึ่งนับเป็นกลุ่มความสนใจเฉพาะด้าน (SIG) ลำดับที่สาม ที่ X Labs จัดตั้งขึ้นร่วมกับพันธมิตรต่างๆ นอกเหนือจากกลุ่ม X Labs’ Digital Sky และ Wireless eHealth กลุ่ม Wireless Connected Factory SIG เป็นการรวมตัวกันของพันธมิตรจากบริษัทด้านระบบการผลิตอัจฉริยะ (Smart Manufacturing) หลายแห่ง เพื่อวิจัยค้นคว้าและส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารบนโครงข่าย 5G ในยุคอุตสาหกรรม 4.0

การประชุมกลุ่ม SIG ครั้งแรกได้จัดขึ้นโดยมีสถาบันสารสนเทศและการสื่อสารของจีน (China Academy of Information and Communications Technology – CAICT) เป็นผู้กำหนดแนวทาง ซึ่งมีสมาชิก SIG เข้าร่วมการประชุมดังนี้ หัวเว่ย, ABB, Effort, Bosch, Beckhoff, Hikrobot, Geely, KUKA และสถาบันระบบอัตโนมัติเสิ่นหยาง (Shenyang Institute of Automation) สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (Chinese Academy of Sciences) รวมไปถึงชไนเดอร์ อิเล็คทริค

กลุ่ม Wireless Connected Factory SIG ที่ก่อตั้งขึ้นในระหว่างการประชุมครั้งแรก

การผลิตที่ยืดหยุ่นด้วยสมาร์ทแมทชีนจะช่วยกำหนดไลน์การผลิตใหม่ในอนาคต เครื่องจักรรุ่นใหม่ในอนาคตที่ใช้เทคโนโลยี plug-and-play จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นและสามารถปรับให้ตรงกับความต้องการของรูปแบบการผลิตในลักษณะต่างๆ สิ่งสำคัญคือ โรงงานต้องมีเครือข่ายสื่อสารประสิทธิภาพสูงและทรงพลัง เพื่อรองรับเครื่องจักรอัจฉริยะนี้ เทคโนโลยีไร้สายจึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สามารถช่วยลดต้นทุนการสร้างเครือข่ายและการซ่อมบำรุง ช่วยเพิ่มทั้งผลิตภาพและความปลอดภัยได้อย่างมีนัยสำคัญ

อุตสาหกรรมการผลิตถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพมากที่สุดสำหรับการใช้งาน IoT จากการวิเคราะห์โดยหัวเว่ย ไวร์เลส X Labs ในปี 2020 ภาคการผลิตทั่วโลกจะมีการเชื่อมโยงสูงถึง 12,500 ล้านจุด โดยเน็ตเวิร์คโรงงานจะมีมูลค่าตลาดสูงถึง 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงต้นปี 2017 X Labs ได้กำหนดให้หุ่นยนต์ไร้สายเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการวิจัยด้านการใช้งานเทคโนโลยีไร้สาย หลังจากที่ได้ทำงานมากว่าครึ่งปี X Labs และพันธมิตรในกลุ่มได้เลือกหัวข้อทั้งหมด 4 เรื่องตามลำดับความสำคัญ ได้แก่ คอนโทรลเลอร์ที่ตั้งโปรแกรมได้ผ่านระบบคลาวด์ (Cloud-based programmable logic controllers – PLC), กล้องไร้สายเพื่องานอุตสาหกรรม (Wireless Industrial Cameras), ยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติควบคุมด้วยระบบไร้สาย (Wireless controlled automated guided vehicles – AGV) และอุปกรณ์สวมใส่สำหรับอุตสาหกรรม (Industrial wearables)

มร. สวี่ เหอหยวน รองประธานฝ่ายวิศวกรรมของสถาบันสารสนเทศและการสื่อสารของจีน กล่าวว่า “การประกาศหลักเกณฑ์เรื่อง “Internet plus advanced manufacturing” จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอินเทอร์เน็ตเชิงอุตสาหกรรมและยกระดับภาคการผลิตแบบดั้งเดิม เทคโนโลยีสื่อสารไร้สายอันทันสมัยจะมีบทบาทเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมการผลิต การก่อตั้งกลุ่ม Wireless Connected Factory SIG ขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยสมาพันธ์อุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตด้านอุตสาหกรรม (Industrial Internet Industry Alliance) นั้นมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับกลุ่ม SIG เพื่อช่วยกันค้นหาเทคโนโลยี มาตรฐานและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง”

“ภารกิจในการค้นคว้าการใช้งานเทคโนโลยีไร้สายในอนาคตถือเป็นหน้าที่ของ X Labs” มร. หยิง เหว่ยมิน ประธานฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีไร้สายของหัวเว่ย กล่าว “หัวเว่ยหวังว่า กลุ่มความสนใจเฉพาะด้าน อาทิ กลุ่มที่จัดตั้งโดย X Labs นี้จะสามารถค้นคว้าและผลักดันให้เกิดการใช้ 5G ตลอดจนส่งเสริมการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในด้านการผลิตอัจฉริยะให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น ความร่วมมืออย่างแข็งขันนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนสมาร์ทแฟคตอรี่ และหัวเว่ยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเติบโตยิ่งขึ้นและค้นพบนวัตกรรมใหม่ๆ”

การประชุมครั้งนี้ยังได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างหัวเว่ย, ABB, Hikrobot, Effort, Geely และ Beckhoff เพื่อกำหนดพื้นฐานความร่วมมือเพิ่มเติมที่ชัดเจนระหว่างหัวเว่ยและพันธมิตรทั้งหมด และกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาของกลุ่ม SIG ต่อไป

ในขณะที่เทคโนโลยี 5G เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว กลุ่ม Wireless Connected Factory SIG จะใช้แพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมของ Wireless X Lab อย่างเต็มที่ และเตรียมพร้อมในเรื่องของหลักการค้นคว้า รังสรรค์ และสร้างระบบนิเวศร่วมกัน สมาชิก SIG จะทุ่มเทความพยายามในการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้อุตสาหกรรมรุดหน้าได้เร็วขึ้น และสร้างโรงงานอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีไร้สายที่ดีกว่าเดิมในอนาคต