เตรียมเว็บให้รองรับภาษา AEC เรื่องที่หลายคนมองข้าม

ปลายปีที่ผ่านมามีรายงานวิจัยเล็กๆ ฉบับหนึ่งจาก Daiwa Institute of Research ซึ่งสำรวจตลาดอีคอมเมิร์ซหลักใน 5 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม

 

 

ctmCover492-1

งานวิจัยที่ว่านี้เน้นในเรื่องการเปิดโอกาสให้แก่บริษัทญี่ปุ่นในตลาดอีคอมเมิร์ซภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งทางผู้วิจัยได้ให้สัมภาษณ์ในหลายประเด็นแก่สำนักข่าวนิเคอิเอาไว้อย่างน่าสนใจ
มีการประเมินว่ามูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในกลุ่มนี้เมื่อปี 2013 อยู่ที่ราว 83,000 ล้านบาท และจะเติบโตอีกกว่า 3 เท่าในอีก 4 ปีข้างหน้า อันเป็นผลมาจากจำนวนผู้คนที่เข้าถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ปัจจุบันตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยนั้นถือว่ามีมูลค่ามากที่สุด ตามมาด้วยสิงคโปร์เป็นอันดับสอง ส่วนอินโดนีเซียและเวียดนามนั้นก็มีตลาดที่เติบโตเร็วอย่างน่าจับตา ทั้งนี้ในภาพรวมของทั้งภูมิภาค สินค้าที่ขายดีจะอยู่ในกลุ่มเสื้อผ้า ของตกแต่ง และเครื่องใช้ภายในบ้าน แต่หากมองเจาะเข้าไปจะพบว่า แต่ละประเทศนั้นก็มีความแตกต่างกันพอสมควร เช่น สินค้าประเภทยาและเครื่องสำอางนั้นขายดีมากในไทย ในขณะที่เพลงและเกมจะขายดีในเวียดนาม (เสริม: คนเวียดนามและคนไทยติดเกมมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกพอๆ กัน)
ที่น่าสนใจก็คือ จำนวนคนที่สั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์นอกประเทศนั้นมีสูงถึงราว 14% และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการสั่งซื้อจากเว็บไซต์ในอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ด้วยเหตุผลที่ว่าสินค้ามีราคาถูกกว่าซื้อหาในประเทศ มีแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ และมีคุณภาพมากกว่า โดยจุดนี้ถือว่าแตกต่างจากอีคอมเมิร์ซในญี่ปุ่นซึ่งมียอดสั่งซื้อจากต่างประเทศคิดเป็นเพียงราว 1% เท่านั้น

 
เว็บไซต์หลักๆ ที่คนในประเทศเหล่านี้ใช้เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเป็นอันดับต้นๆ ประกอบไปด้วย Amazon.com จากอเมริกา, Tmall/AliExpress จากจีน และ Rakuten จากญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมามีตัวเลขยืนยันค่อนข้างชัดเจนว่า ผู้คนที่เดินทางกลับจากญี่ปุ่นนั้น มีความต้องการในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์จากญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ หากดูจากกระแสเจแปนฟีเวอร์ที่ช่วงนี้คนไทยเองได้เดินทางไปญี่ปุ่นกันเป็นว่าเล่นหลังจากที่ไม่ต้องขอวีซ่าแบบเดิม
และเมื่อถามกลุ่มลูกค้าในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงประเด็นที่ส่งผลต่อการสั่งซื้อสินค้าจากญี่ปุ่น อันดับหนึ่งเป็นเรื่องของภาษา
สำหรับภาษาอังกฤษนั้น แม้จะเป็นภาษาสากล แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่ชำนาญการอ่านหรือทำความเข้าใจกับเนื้อหาบนเว็บที่เป็นภาษาอังกฤษ และสถานการณ์ยิ่งแย่เข้าไปใหญ่เมื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น ดังนั้นอุปสรรคเรื่องภาษาจึงเป็นสิ่งที่ทางทีมวิจัยมองว่าเป็นปราการสำคัญในการเจาะเข้าสู่ตลาดเออีซี
ผมมองว่ารายงานสั้นๆ ฉบับนี้เป็นรายงานที่กระชับและตรงประเด็น —
สำหรับบางคนการขายในประเทศไทยเพียงอย่างเดียวอาจพอเพียง แต่หากขยายไปยังประเทศรอบข้างได้ น่าจะดีกว่ามั้ย?
เสียดายที่ประเด็นเรื่อง “ภาษา” นั้น เป็นสิ่งที่หลายบริษัท “ไม่อยากและไม่กล้าลงทุน” ดังนั้นเว็บไซต์หลายแห่งที่มีโอกาสในการขยายตลาด จึงเลือกที่จะใช้แค่ภาษาเดียว หรือบางแห่งที่มีก็ทำเว็บที่รองรับหลายภาษาขึ้นมาอย่างลวกๆ และไร้คุณภาพ เรียกว่าจับเอาเด็กประถมมาแปลเว็บที่อาจสร้างเงินล้านให้กับคุณ ด้วยเพราะอยากประหยัดค่าแปล — ถามว่ามันคุ้มแล้วหรือครับ ??
อย่าลืมว่าแค่แถมอาเซียนอย่างเดียว เราก็มีทั้งภาษาไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า ลาว เขมร มาเลย์ อังกฤษ จีน บรูไน — และประเทศที่พูดอ่านเขียนภาษาอังกฤษได้อย่างดีที่สุดก็มีเพียงประเทศเดียว คือ สิงคโปร์
ดังนั้นหากต้องการขยายตลาดอีคอมเมิร์ซออกไปในละแวกรอบด้าน ซึ่งสะดวกในเรื่องการขนส่งสินค้า รวมถึงการที่ผู้คนนั้นมีพื้นเพทางวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน — ภาษา ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ จึงต้องถูกจัดการในลำดับแรกๆ เพราะไม่เช่นนั้นต่อให้สินค้าจะมีราคาถูกแค่ไหน จะมีคุณภาพดีเท่าไร จะมีระบบชำระเงินและจัดส่งสินค้าที่น่าเชื่อถือระดับไหน แต่ลูกค้าอ่านไม่ออกและไม่เข้าใจ ก็คงต้องจมปลักขายอยู่ในประเทศไทยไปเรื่อยๆ และปล่อยให้อีคอมเมิร์ซจากญี่ปุ่น อเมริกา และจีน เข้ามากวาดยอดขายไปในแบบที่เราได้แต่นั่งตาละห้อยมองด้วยความอิจฉา พร้อมกับปลอบใจตัวเองว่า  “ไม่เป็นไร เราไม่สนใจตลาดรอบๆ ประเทศไทย”
ที่จริงแล้วสำหรับการพัฒนาเว็บไซต์ใหม่ การเพิ่มระบบเปลี่ยนภาษาเข้าไปนั้น ไม่ได้เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มากเกินรับได้ ประมาณว่าอยู่ที่ราว 10-30% ของค่าพัฒนาเว็บไซต์เท่านั้น ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรวมค่าแปลภาษาในระดับที่มีคุณภาพยอมรับได้เป็นที่เรียบร้อย ส่วนเว็บอีคอมเมิร์ซใดที่มีระบบอยู่เดิม ก็สามารถรื้อระบบใหม่เพื่อแยกส่วนภาษาออกมาให้เป็นระบบอิสระ ก็จะทำให้เว็บไซต์ของตนเองรองรับภาษาต่างๆ ได้ไม่จำกัด
ที่ยากกว่าการพัฒนาระบบภาษา น่าจะเป็นการเฟ้นหานักแปลที่ดีและมีคุณภาพ — พูดแบบนี้หลายคนนึกถึงสถาบันหรือบริษัทรับแปลภาษาที่ธุรกิจหลักมักเคยแต่แปลเอกสารอย่างทะเบียนบ้าน ทะเบียนสมรส วุฒิการศึกษา และเอกสารพื้นๆ ทั่วไป แถมเท่าที่ทราบยังส่งงานต่อให้นักศึกษารับงานไปแปลด้วยราคาหน้าละ 80-150 บาท แล้วจะได้งานแปลที่มีคุณภาพได้อย่างไร?
ใครที่จริงจัง หากไม่หานักแปลโดยตรงที่เชี่ยวชาญภาษานั้นๆ โดยเฉพาะ ก็ลองค้นหาเอเจนซี่ที่รับทำ Localization สำหรับเว็บไซต์โดยเฉพาะ ซึ่งพวกนี้จะมีความสามารถมากกว่า มีฐานคำศัพท์มาตรฐานอยู่แล้ว ทำงานได้เร็ว ค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก มีนักแปลในสังกัดหลายภาษา และเข้าใจหลักการทำงานของเว็บไซต์พอประมาณ เสียดายอย่างเดียวตรงที่ว่า เอเจนซี่เหล่านี้มักไม่ได้อยู่ในไทย แต่มีสำนักงานอยู่ในสิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ที่เข้าใจถึงความสำคัญของธุรกิจการแปลมากที่สุดในอาเซียน !!

 

aec11

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here